ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย


สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย

       เมื่อวันที่  3 มีนาคม 2564 สถาบันพระปกเกล้า โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ (ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเตรียมการ “เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย” (ครั้งที่ 2)  ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

         เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทยเป็นเวทีที่ขับเคลื่อนโดย 4 องค์กรหลัก คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย มูลนิธิพัฒนาไท สถาบันพระปกเกล้า (พป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนกระบวนการและทิศทางการพัฒนาประเทศไทยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับบริบทที่ท้าทายในการพัฒนาประเทศ อาทิ แนวโน้มระดับโลก (Megatrends) ผลกระทบและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 และสถานะของประเทศและผลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 

        ในอดีตเน้นการขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐ แต่ในอนาคตจะมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยแสวงหาทิศทางและแนวทางการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) กลุ่มเยาวชน และคนรุ่นใหม่ เพื่อ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล” สู่การ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยมี 4 องค์ประกอบและ 13 หมุดหมาย 

ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการเตรียมการจัดเวทีระดมความคิดเห็น “เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย” 3 เวทีแรก ดังนี้ 

1.) เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประเด็น “การพัฒนาและพลิกโฉมประเทศ” โดยมีกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นประเด็นตั้งต้นในการระดมความคิดเห็น ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2564 (เจ้าภาพ: สศช.)

2.) เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประเด็น “การเสริมพลังท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” ช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 (เจ้าภาพ: พป.)

3.) เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ครั้งที่ 3 ประเด็น “คนรุ่นใหม่และเยาวชนกับการพัฒนาประเทศ” ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 (เจ้าภาพ: สช.) 

          ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นในแต่ละเวทีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนั้นๆ และครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งเยาวชน คนรุ่นใหม่ วัยทำงานและผู้อาวุโส อาทิ เป็นผู้มีพื้นที่ปฏิบัติการที่สามารถพัฒนา ผลักดัน และ/หรือร่วมขับเคลื่อนงานในเชิงพื้นที่ เป็นผู้ที่มีความรู้รุ่มลึกและไม่ยึดติดกับกรอบการทำงานในรูปแบบเดิม เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ เป็นผู้มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ เป็นรูปธรรมและสามารถเป็นต้นแบบให้หน่วยงาน/บุคคลอื่นนำไปประยุกต์ใช้ โดยจะมีรูปแบบการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในลักษณะ Hybrid ทั้งออนไซต์ (onsite) และออนไลน์ (online) เวทีละประมาณ 30-50 คน 

         ผลที่คาดหวังจากการจัดเวทีที่สำคัญ คือ ได้ต้นแบบ/รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นเลิศ มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานและเกิดการปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ และมีการติดตามผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า