หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564) วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท้องถิ่นต้นแบบในการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่ของตน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นในการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
การสัมมนาดังกล่าว เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการชี้แจงกำหนดการและรายละเอียดงาน โดย คุณวิลาวัณย์ หงษ์นคร (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า) จากนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นและประสบการณ์ ในประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน (จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จากนั้น เป็นการแบ่งกลุ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท้องถิ่นต้นแบบ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
เป็นตัวอย่างของการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และมีทักษะทางวิชาชีพที่ตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนเพื่อการฝึกอาชีพ จัดแหล่งเรียนรู้เพื่อการฝึกอาชีพในพื้นที่ตามความต้องการของทุกกลุ่ม โดยมีการรับรองในระดับหนึ่งว่า เด็กและเยาวชนที่มีทักษะในสายวิชาชีพจะมีงานทำและสามารถหารายได้ด้วยตนเอง
กลุ่มที่ 2 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเทศบาลนครเชียงราย และเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด
เทศบาลนครเชียงราย มีการพัฒนาระบบในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยจัดให้มีผู้สนับสนุนการเรียนรู้ประจำห้องเรียนหรือครู LS เพื่อทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยง ควบคุม ดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนนักเรียนตามศักยภาพและความสามารถ รวมทั้งประสานงานกับทางโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเพื่อจัดการพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในด้านต่างๆด้วย
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลได้จัดการเรียนการสอนแบบ “มอนเดสโซรี่” ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ ซึ่งมีการสังเกตพฤติกรรมและศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยการสอนจะเน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยพัฒนาทั้งด้านประสบการณ์ชีวิต วิชาการ รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของเด็กเล็กด้วย
กลุ่มที่ 3 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี มีการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ง่าย ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมโดยเฉพาะ การจัดหาบุคลากรและครูที่มีความรู้และทักษะในการสอนเด็กกลุ่มนี้ รวมทั้งการคัดกรองเด็กออกจากกลุ่มนักเรียนทั่วไปเพื่อให้เข้าเรียนในกลุ่มเฉพาะ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ มีการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชน และประสานกับเครือข่าย รวมทั้งการติดตามช่วยเหลือผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วเพื่อติดตามและช่วยเหลือในการศึกษาต่อจนจบ
องค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม มีการจัดตั้งมหาวิชชาลัยเพื่อให้เด็กเล็กในพื้นที่ได้เรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กในพื้นที่สามารถเข้ารับการศึกษาได้โดยไม่มีค่าเล่าเรียน พัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน มีอุปกรณ์ที่ครบถ้วน ทันสมัย รวมทั้งบุคลากรครูที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับเด็กเล็ก
โดยในช่วงท้ายของการสัมมนาเป็นการสรุปและชี้แจงกระบวนการศึกษาวิจัยในขั้นต่อไป โดย นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จำนวน 12 แห่ง และมีผู้แทนเข้าร่วมกว่า 120 คน