หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาไท สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดประชุมเวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย (ครั้งที่ 2) ออนไลน์ “จินตนาการใหม่การกระจายอำนาจ” เพื่อจุดประกายความคิดให้กับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจเพื่อการบริหารจัดการท้องถิ่นและการพัฒนาเชิงพื้นที่ และเพื่อระดมความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะ ร่วมสร้างกลไกเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในอนาคต
“เวทีทิศทางอนาคตประเทศไทย ครั้งที่ 2” มุ่งเน้น ทิศทางการกระจายอำนาจ 2 ทิศทาง คือ
กิจกรรมการประชุมระดมความคิดเห็น เริ่มต้นด้วย การกล่าวเปิดการประชุมและนำเสนอแนวคิด “จินตนาการใหม่การกระจายอำนาจ” โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) โดยถอดบทเรียนจาก Covid-19 ในพื้นที่ “โมเดลสุขภาพ” ในหลายมิติ เช่น ด้านกฎหมาย อำนาจ และการตัดสินใจ โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเมือง ประชาธิปไตยท้องถิ่น 2.) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย Delegation และ Devolution เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและบริหารจัดการในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนรวมอย่างแท้จริง ให้เกิดความเป็นเจ้าของ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในพื้นที่ของตนเอง จากนั้น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “แนวทางการบริหารงาน/การพัฒนาด้านต่างๆของภาครัฐ และอปท. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่สอดคล้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่” โดยผู้ร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ คุณสมศักดิ์ จังตระกูล (ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น) มุมมอง “การพัฒนาเชิงพื้นที่”, คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ (นายกเทศมนตรีนครยะลา) มุมมอง “การบริหารจัดการและการพัฒนาท้องถิ่น” ,อ.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย (รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น) “กรณีศึกษาบทบาทของภาคเอกชนกับโครงการรถรางเบาขอนแก่น”, คุณปริม จิตจรุงพร (ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ VEC หอการค้าไทย) สร้างคนรุ่นใหม่ VEC ให้ต่อยอดธุรกิจในพื้นที่ของตน รวมทั้งวิทยากรจากเครือข่ายร่วมจัดได้แสดงทัศนะในหลากหลายมุมมอง ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ (ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า)
ในช่วงท้าย เป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม โดย ผู้แทนของภาคีเครือข่าย ภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และภาคประชาสังคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์กว่า 60 คน สถาบันและภาคีเครือข่าย คาดว่าหลังจากการเสวนาจะทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจเพื่อการบริหารพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมทั้งได้โมเดล แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การสร้างแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต