ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สัมมนาวิชาการ Democracy talk series Phenomenon in the World of Democracies


        เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564  วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการ Democracy talk series : Phenomenon in the World of Democracies ปรากฎการณ์ในโลกประชาธิปไตย Ep 6. “ประชาธิปไตยเกิดใหม่: ความท้าทายต่อการสร้างสถาบันการเมือง” ทาง Facebook สถาบันพระปกเกล้า 

        วิทยากรโดย ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร) และ อาจารย์ปฐวี โชติอนันต์ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ดำเนินรายการโดย อาจารย์ปุรวิชญ์ วัฒนสุข  (นักวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า) ร่วมดำเนินรายการ "ประชาธิปไตยใหม่" (New Democracies) เป็นคำใช้ประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 มาจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กระแสของโลกในช่วงเวลานั้นคือการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (democratization) จึงทำให้หลายประเทศเวลานั้นเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของประเทศประชาธิปไตยใหม่นั้น ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิต, สงครามตัวแทนและการครอบงำของประเทศมหาอำนาจ, การไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องกติกาการแข่งขัน, บทบาทของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (กองทัพ, ศาล), ระบอบประชาธิปไตยค่อยๆ เปลี่ยนเป็นระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย, ความขัดแย้งภายใน, และระบบอุปถัมภ์ การจะจรรโลงระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation) ให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้เป็นแต่เพียงการสร้างสถาบันการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่สถาบันการเมืองต่างๆ ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และสถาบันการเมืองควรจะเป็นช่องทางที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หากสถาบันการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ตามช่องทางสถาบัน ก็จะทำให้สถาบันการเมืองดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน

         ส่วนระบอบประชาธิปไตยไทยตลอดระยะเวลา 89 ปีนั้น ปัญหาสำคัญคือการที่ตัวแสดงสำคัญในทางการเมืองนั้นต่างมีกติกาการแข่งขัน (rule of the game) คนละกติกา ไม่ได้เล่นอยู่ในกติกาเดียวกัน คำตอบสำคัญจากการอภิปรายในครั้งนี้ คือ การจะพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยไทยดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวที่จะสามารถแก้ไขได้ทุกอย่าง แต่เป็น "โครงการที่ไม่สิ้นสุด" (unfinished project) ที่ต้องทำตลอดไป และเมื่อวิเคราะห์ในทางการเมืองเปรียบเทียบแล้ว ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไทยไม่ได้เป็นแต่เพียงปัญหาเฉพาะของประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ก็เป็นปัญหาที่ประเทศประชาธิปไตยใหม่อื่นๆ ก็เคยผ่านประสบการณ์ที่คล้ายคลึงในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า