หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “แนวคิดการจัดทำแผนงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศและวัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม” (Gender Responsive Participatory Budgeting: GRPB) เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศและวัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม (Gender and Age Responsive Participatory Budgeting: GRPB) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบเรื่องการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศและวัย ผ่านระบบ Application Zoom จากห้องประชุม สถาบันพระปกเกล้า โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ และเทศบาลตำบลกันตัง จังหวัดตรัง รวมจำนวน 44 คน
กิจกรรมการอบรมเริ่มด้วย
การกล่าวเปิดงาน โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) และการบรรยาย สร้างความเข้าใจ หัวข้อ “ความเสมอภาคระหว่างเพศและวัย (GRPB) คืออะไร?” และ“งบประมาณของท่านจัดสรรกันอย่างไร” โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า)
ต่อด้วย กิจกรรม“การวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขแยกกลุ่ม/วัย” โดยดร.ถวิลวดี บุรีกุล และทีมวิทยากร ส่วนในช่วงท้ายของการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมทำข้อสอบวัดความรู้ภายหลังการ workshop ผ่านระบบออนไลน์ ที่มาโครงการ : GRB เป็นเครื่องมือในการบริหารพัฒนาการจัดทำงบประมาณที่พิจารณาประเด็นเรื่องเพศภาวะ (Gender) เพื่อนำไปสู่การบริหารงบประมาณอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิผล ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) อันเป็นกรอบการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 5 ที่ว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างเพศ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 71 วรรค 4 ที่ระบุไว้ว่า “...ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัยและสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับประชาชนและมีงบประมาณเพื่อพัฒนาในพื้นที่ของตน ซึ่งประชาชนย่อมมีความคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับการบริการอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม สถาบันฯ จึงมุ่งที่จะสร้างตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของกระบวนการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติความเสมอภาคระหว่างเพศที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้ปฏิบัติงานได้จริง