ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

บรรยายพิเศษ และเสวนาออนไลน์ มองญี่ปุ่น มองไทย: ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นกับการพัฒนาประชาธิปไตย


          เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 : สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดงานสัมมนาออนไลน์ KPI Public Lecture "มองญี่ปุ่น มองไทย: ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นกับการพัฒนาประชาธิปไตย" (Thailand and Japan’s Perspective: On Local Government and Democracy Development) โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Akima Umezawa (อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน  และได้รับเกียรติจาก  ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวเปิดการสัมมนา ความตอนหนึ่งว่า  การปกครองท้องถิ่น เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปูทางเพื่อเป็นรากฐานประชาธิปไตยในระดับประเทศ โดยผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นกลไกที่มาจากประชาชน ดำเนินกิจการสาธารณะเพื่อประชาชน และกำกับดูแลโดยประชาชนอย่างแท้จริง

         ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศหนึ่งในโลก ที่มีการพัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน มีรากฐานการพัฒนาที่เข้มแข็ง ส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นยังมีความตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศเป็นอย่างดี และสามารถนำข้อค้นพบดังกล่าวมาสะท้อนเป็นบทเรียนการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย ต่อด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การส่งเสริมประชาธิปไตยในการเมืองการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น” โดยได้รับเกียรติจาก Prof. Nagai Fumio (Graduate School of Law Osaka City University) ความว่า ประเทศญี่ปุ่นมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นมีสาระสำคัญ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะปกครองด้วยตนเองในระดับหนึ่งโดยมีอิสระต่อรัฐบาลกลาง สภาท้องถิ่นมีอำนาจสำรวจและแถลงความคิดเห็น และประชาชนมีส่วนร่วมต่อการปกครองท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลกลางมีหน้าที่กระตุ้นให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   หลักการสำคัญเริ่มต้นที่ท้องถิ่น รัฐบาลกลางและท้องถิ่นจะร่วมมือกันในหลายๆด้าน และบางกรณีอาจมีการกระจายงานที่เป็นภารกิจขององค์กรระดับจังหวัดไปสู่องค์กรระดับเทศบาลได้เช่นกัน

          การบริหารบุคลากรของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรแบบทั่วไปมากกว่าพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางเพื่อให้มีประสบการณ์การทำงานทั้งสองด้านและเพื่อขยายขีดความสามารถในการทำงานและเวทีเสวนา “จากญี่ปุ่นสู่เมืองไทย: เรียนรู้ เสริมสร้าง พัฒนา ประชาธิปไตยท้องถิ่นไทย”ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนมุมมองโดย Prof. Nagai Fumio รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ (รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสสร์ (ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มองว่า ท้องถิ่นไม่ได้มีปัญหาด้านการเมืองแต่เป็นปัญหาด้านการบริหาร จากการปฏิรูปการเมือง ปัญหาสำคัญของท้องถิ่นไทยเป็นเรื่อง สมรรถนะทางการบริหาร มากกว่า การเมือง การเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการต้องเป็น Agenda สำคัญของกลไกราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งในด้านการคลัง การบริหารงานบุคคล มาตรฐานการบริการสาธารณะ และเทควิธีการต่างๆ การแบ่งบทบาท อำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมและชัดเจนระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น การกำกับและตรวจสอบให้เป็นหน้าที่หลักของประชาชนและกลไกในระดับพื้นที่


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า