หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ร่วมกับศูนย์พลเมืองศึกษา ประเทศสหรัฐอเมริกา Center for Civic Education จัดเวทีอภิปรายออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครูไทยและครูสหรัฐอเมริกาในหัวข้อ การประยุกต์ใช้โครงการสร้างสำนึกพลเมืองในชั้นเรียนในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้อำนวยการนวพรรณ อินต๊ะวงศ์ คุณครูสุทธารักษ์ ดรุณนารถ จากโรงเรียนดรุณวิทยา จังหวัดน่าน และ คุณครูปรียาภรณ์ ศรีพิมพ์จากโรงเรียนเทศบาล 1 (หนองแสง) จังหวัดนครพนม เป็นผู้นำเสนอประสบการณ์ของประเทศไทย ซึ่งมีครูผู้ผ่านการอบรมโครงการสร้างสำนึกพลเมือง ปี 63 และ 64 จำนวน 40 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ Anna Marketosคุณครูจาก New York, Rachel Barnes จาก Massachusetts, Alissa Irion-Groth และ Maria Gallo ผู้แทนจาก CCE ประเทศสหรัฐอเมริกา
การประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ถึงการประยุกต์ใช้กระบวนการ 6 ขั้นตอนเพื่อสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองในชั้นเรียนประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การระบุปัญหาในชั้นเรียนหรือชุมชน ขั้นตอนที่ 2 การเลือกปัญหา ขั้นตอนที่ 3 การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ขั้นตอนที่4 การจัดทำแฟ้มผลงาน และผังนิทรรศการ ขั้นตอนที่5 การนำเสนอข้อเสนอนโยบายสาธารณะของชั้นเรียนต่อผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และขั้นตอนที่6 การสะท้อนบทเรียนจาการทำโครงการสร้างสำนึกพลเมือง ตลอดจนเครื่องมือ เทคนิค วิธีการใหม่ๆ สำหรับการขยายผลในชั้นเรียน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและข้อท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด 19 และการปรับเป็นหลักสูตรออนไลน์
เวทีอภิปรายได้ข้อสรุปว่าการสอนโครงการสร้างสำนึกพลเมืองทั้งแบบ On site และ On line ต้องเปิดโอกาสให้กับนักเรียนมีส่วนร่วม เป็นศูนย์กลางในการคิด วิเคราะห์ และหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง คุณครูเป็นผู้ช่วยหาช่องทาง และอำนวยความสะดวกให้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด และเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินโครงการสร้างสำนึกพลเมือง ก็คือ การปรับและเปลี่ยนเจตคติของนักเรียน ให้ตระหนักรู้ (concern) ว่าปัญหาชุมชนเป็นปัญหาของตนเองและของทุกคน ซึ่งจะต้องร่วมกันแก้ไขจึงจะประสบความสำเร็จ