ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

ประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 “ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564


          วันที่ 6 พฟศจิกายน 2564 สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 23 เป็นวันที่สอง (ในรูปแบบออนไลน์) กิจกรรมดังกล่าวเริ่มด้วย  การแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่” โดย   Prof. Dr. Aurel S. Croissant,Institute of Political Science, Ruprecht Karls-University, Heidelberg, Germany กล่าวว่า ประชาธิปไตยกำลังเผชิญกับวิกฤต เกิดปรากฏการณ์ที่ท้าทายต่อความเป็นประชาธิปไตย และส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยภูมิทัศน์ใหม่ของประชาธิปไตยนั้น กำลังเผชิญกับความท้าทายและวิกฤตอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลให้ลัทธิชาตินิยมและประชานิยมเพิ่มขึ้น การถดถอยของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก และการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย และการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยก็ลดลง ด้วยการเพิ่มขึ้นของความไม่พอใจของสาธารณชนและความคลางแคลงใจต่อการทำงานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างของการลดลงของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยทิ้งท้ายว่า ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ยังคงเกิดขึ้นได้หรือไม่ ? แม้ว่าท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย 

        จากนั้น เป็นเวทีอภิปราย เรื่อง “ประชาธิปไตยไทยบนความท้าทายและโอกาส” โดยวิทยากร
-
ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ (คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) 
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตนายกรัฐมนตรี)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี (ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
  ดำเนินรายการโดย นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์  (บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว The Standard)

        ศาสตราจารย์​ ดร.​บรรเจิด สิงคะเนติ  (คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)  พูดถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองว่า เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโดยการเปิดเสรีที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและระดับประเทศและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจของภูมิภาคทั้งจีน เอเชีย และยุโรป ในประเทศไทยได้ก่อให้เกิดความเป็นสมัยใหม่ การก่อตัวของระบบรัฐราชการ และรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย   อีกหนึ่งความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล (digitalization) การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่พลังในเชิงสร้างสรรคได้หรือไม่ เราจะออกจากกับดักของการมองตะวันตกเป็นศูนย์กลางได้หรือไม่ ความขัดแย้งนำมาสู่ความสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่  และเราจะสามารถจัดโครงสร้างสถาบันการเมืองเพื่อสร้างความผาสุกให้กับคนไทยถ้วนหน้าได้หรือไม่   นี่เป็นโอกาสที่เราต้องเรียนรู้จากอดีตที่ชนชั้นนำสามารถนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทย การนำความขัดแย้งมาสร้างพลังสร้างสรรค์สังคม สร้างรัฐธรรมนูญที่ให้กำเนิดโครงสร้างทางการเมืองที่มั่นคง

       นายอภิสิทธิ์​ เวชชาชีวะ (อดีตนายกรัฐมนตรี) กล่าวถึงถึงภูมิทัศน์ของประชาธิปไตยว่า ความท้าทายหลักยังคงเป็นปัญหาการทุจริตคอร์รับชั่น และความล้มเหลวของโครงสร้างสถาบันเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมือง ซึ่งประชาธิปไตยต้องเผชิญหน้ากับภูมิทัศน์ใหม่ที่เกิดจากปัญหาภูมิทัศน์การเมืองโลก วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโรคระบาด สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มองว่าเขาไม่มีอนาคต ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง ที่ผ่านมาไม่มีความพยายามในการสร้างกระบวนการที่จะพูดคุย และถกเถียงในสังคมอย่างแท้จริง ทางออกของปัญหานี้คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องเข้ามาหาฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยต้องเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ลดการเผชิญหน้า เปิดโอกาสให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยการยอมรับหลักสากลของประชาธิปไตยในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ความเป็นธรรม และความเสมอภาค

       ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กล่าวว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์คนกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ก็ก็กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่กลุ่มใหม่นี้ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ต่อหน่วยงานรัฐ ความน่าสนใจของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่  คือ มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านทางออนไลน์และเชื่อมไปสู่สถาบันทางการเมือง ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจในระบบและปัญหาที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานและไม่ได้รับการแก้ไข ข้อเรียกร้องเหล่านี้มีแนวโน้มที่ไม่มีการประนีประนอม ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกมองว่า เป็นกลุ่มเด็กที่อ่อนประสบการณ์ ถูกครอบงำจากพรรคการเมือง และเป็นเครื่องมือทางการเมือง นำไปสู่การปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ในฐานะเด็กไม่ว่าจะเป็นการตักเตือน การตำหนิ และการลงโทษ และท้ายที่สุดคือการจับ ขัง และดำเนินคดีเมื่อการชุมนุมมีการขยายตัวมากขึ้น ท้ายที่สุด คนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ถูกเสริมพลังเพื่อให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ ซึ่งก็ถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งท้าทายใหม่สำหรับพื้นที่ทางการเมือง

     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี (ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้นำจะต้องเป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคี ปัจจัยที่เป็นปัญหาคือการออกกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์แก่พรรคพวกที่เกิดขึ้นในสังคม โจทย์สำคัญในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติ และประชาชนไม่ขัดแย้งกัน โจทย์นี้สามารถแก้ไขได้โดยให้โอกาสให้แก่คนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ต่อต้านให้สามารถเข้ามาร่วมพูดคุยได้ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และมองว่าภาครัฐควรที่จะลดการใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหา และเพิ่มการใช้รัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา โดยหน่วยงาน หรือสถาบันตุลาการต้องวางตัวเป็นกลาง เพื่อทำให้ผู้ที่เข้าสู่ระบบยุติธรรมรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม

ส่วนในภาคบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม คือ

 กลุ่มที่ 1 : ปรากฏการณ์ทางสังคมกับความเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมือง เป็นการอภิปรายเรื่องปรากฏการณ์ทางสังคมกับพรรคการเมือง การรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเพื่อหาคำตอบว่า พรรคการเมืองจะต้องปรับตัวอย่างไรในภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบที่มีอุดมการณ์แบบประชานิยมเป็นตัวนำ ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป และสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยทั้งในระดับชาติและระดับสากล

กลุ่มที่ 2 :  ความชอบธรรมของสถาบันการเมืองท่ามกลางสภาวะผันผวนทางสังคม เป็นการอภิปรายเพื่อหาคำตอบว่า สถาบันทางการเมืองภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและบริบทใหม่ จะมีแนวทางในการเพิ่มบทบาทของพลเมืองให้เหมาะกับระดับความตื่นรู้ที่มากขึ้น และกำหนดโครงสร้างรวมทั้งกรอบการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองอย่างไร เพื่อให้เกิดความชอบธรรม สามารถผสานประโยชน์ในความต้องการที่แตกต่างหลากหลายอย่างสอดคล้อง ตอบสนองต่อพลเมืองในบริบทของประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นไปที่สถาบันทางการเมืองทั้งในเชิงโครงสร้าง

 กลุ่มที่ 3 : ตุลาการภิวัตน์ : อำนาจตุลาการในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการเมือง เป็นการวิเคราะห์บทบาทขององค์กรตุลาการและการให้เหตุผลในการตัดสินคดีทางการเมืองในต่างประเทศ และผลกระทบต่อองค์กรตุลาการและภูมิทัศน์ของประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นเมื่อมีคำวินิจฉัยดังกล่าว รวมทั้งบริบทที่ก่อให้เกิดความชอบธรรมต่อองค์กรตุลาการในการวินิจฉัยคดีทางการเมือง  ตลอดจนเงื่อนไขที่ทำให้คำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบธรรม การอภิปรายและเสนอแนะเกี่ยวกับโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองในประเทศไทย

 กลุ่มที่ 4 : การบริหารภาครัฐบนความท้าทายของภาวะวิกฤต อภิปรายถึงประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่นำไปสู่การออกแบบกลไกการบริหารงานภาครัฐให้มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อตอบสนองภาวะวิกฤตต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งแนวทางการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม และ ประชาชนในการบริหารจัดการภาครัฐที่เหมาะสมในภูมิทัศน์ใหม่บนความท้าทายของภาวะวิกฤต 

กลุ่มที่ 5 : ดุลยภาพระหว่างความมั่นคงของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการอภิปรายในประเด็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับมุมมองความมั่นคงของรัฐ  ความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองความมั่นคงของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ได้ที่นี่

 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า