ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

งานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 “ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564


           วันที่ 7 พฤศจิกายน สถาบันพระปกเกล้าจัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 23 ในรูปแบบออนไลน์ วันที่สามของการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า เริ่มต้นด้วย  การนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่ 
กลุ่มที่ 1 ปรากฏการณ์ทางสังคมกับความเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมือง 
กลุ่มที่ 2 ความชอบธรรมของสถาบันการเมืองท่ามกลางสภาวะผันผวนทางสังคม
กลุ่มที่ 3 ตุลาการภิวัตน์ : อำนาจตุลาการในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการเมือง
กลุ่มที่ 4 การบริหารภาครัฐบนความท้าทายของภาวะวิกฤต
กลุ่มที่ 5 ดุลยภาพระหว่างความมั่นคงของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) 

      จากนั้น เป็นการสรุปภาพรวมการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ (ประธานกรรมการจัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23)  พิธีมอบรางวัลพระปกเกล้าสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2564 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ จำนวน 36 แห่ง โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) เป็นผู้มอบรางวัล และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองเชียร์ของแต่ละหน่วยงานเข้าร่วมรับรางวัลในรูปแบบออนไลน์ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้า ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 9 แห่ง , ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ จำนวน 3 แห่ง , ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม จำนวน 14 แห่ง  , ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำนวน 10 แห่ง และรับใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้า
          สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 24 แห่ง ได้แก่
- ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ จำนวน 1 แห่ง 
- ด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม  จำนวน 9 แห่ง 
- ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  จำนวน 3 แห่ง

         ในช่วงท้ายเป็นการแสดงปาฐกถาปิด โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า)  กล่าวว่า ภูมิทัศน์ใหม่ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประชากร ความคิด วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนทำให้เกิด “ภูมิทัศน์ใหม่” ทั้งสิ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจ ความผันผวนทางเทคโนโลยี ปัญหาโรคระบาด, และปัญหาสังคม และปัจจัยจากโครงสร้างภายใน เช่น คนรุ่นใหม่ ค่านิยมปัจเจกนิยม ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางสถาบัน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการทุจริต 

         ภูมิทัศน์ใหม่ส่งผลต่อระบบการเมือง ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อชนชั้นนำทางการเมือง เกิดความขัดแย้ง และการต่อต้าน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่นี้ ระบอบประชาธิปไตยก็ถูกตั้งคำถามว่าไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบแตกแยก และปัญหาความเป็นธรรม 

         ภูมิทัศน์ใหม่ต้องการผู้นำที่สามารถปรับตัวได้ ภาครัฐและสถาบันการเมืองต้องปรับตัว รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยก็ต้องปรับตัว โดยที่ระบอบประชาธิปไตยต้องนำไปสู่เป้าหมายสามประการของสังคม ได้แก่ ความมั่งคั่ง ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ให้โอกาสคนเท่าเทียมกัน สังคมที่มั่นคง มีที่พึ่ง ปลอดภัย และเข้มแข็ง และมีความเป็นธรรมบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ มีกลไกที่เปิดพื้นที่ของความแตกต่าง ปรับโครงสร้างความสัมพันธ์และการได้ดุลยภาพของสถาบันการเมือง และเสริมสร้างคุณค่าและจิตใจประชาธิปไตย

 

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม ได้ที่นี่


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า