หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 สถาบันพระปกเกล้า โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตร ไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก รุ่นที่ 11 (TAG 11) ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการศึกษา พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ หัวข้อ “สถาบันพระปกเกล้ากับการสร้างผู้นำ” ให้แก่นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 64 คน ความส่วนหนึ่งกล่าวถึง จากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพต่อประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก ทั้งกระบวนการทำงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่เกิดการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ ฉากทัศน์ประเทศเปลี่ยนไป จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่เพียงแต่ในประเทศ ผลจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดวิถีใหม่ หลักสูตรมีการปรับตัวให้ทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองโลก และประเด็นท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ความเหลื่อมล้ำ นโยบายรัฐ ประชาธิปไตยในยุคดิจิทัล โดยมุ่งหวังจะช่วยสร้างบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์ สามารถวิเคราะห์และรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและประชาชนไทย รวมถึงประชาคมอาเซียน ผู้ที่เข้ารับการศึกษาจะต้องได้ความรู้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมนักศึกษาควรต้องใช้ความรู้มากกว่าความเห็น
สถาบันฯ จึงต้องการให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้ความรู้ที่มีหลักการ รู้ถึงราก ได้ทฤษฎี ผนวกกับสามารถปฏิบัติได้จริงบนฐานที่รู้จริงรู้ลึก และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งนักศึกษาถือเป็นทุนที่มีคุณค่า อันเนื่องจากประสบการณ์ ความรู้การทำงานของนักศึกษาแต่ละคน ที่เข้ามาสู่กระบวนการเรียนของสถาบันพระปกเกล้าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ (Knowledge) ทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วม (Publicness) และซื่อตรง มั่นคงในธรรม (Integrity) นั่นคือ คุณสมบัติของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าที่เรียกว่า KPI DNA และมุ่งหวังที่จะให้เป็นผู้นำทางความคิด ไม่ใช่ผู้นำทางอำนาจ โดยเป็นผู้ที่ใช้ความรู้อย่างมีหลักการ และสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เป็นผู้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โดยต้องการให้ผู้เข้ารับการศึกษาพัฒนาแนวทางและนโยบายของประเทศที่เหมาะสม ในยุคดิจิทัล และชีวิตวิถีใหม่ในภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 ที่จะนำประเทศไทยไปสู่สมาชิกประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งในบริบทเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ท้าทาย
นักศึกษายังได้รับฟังการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” จาก ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทราศุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า หลังจากนั้นในช่วงบ่ายแนะนำการทำงานวิชาการกลุ่มและกิจกรรม โดยรุ่นพี่ TAG 10 และเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับฟังการบรรยายประวัติพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ