ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

พิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 26 (ปปร.26)


            เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 สถาบันพระปกเกล้า โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครองจัดพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 26 (ปปร.26) ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการศึกษา และนำคณะนักศึกษา ปปร.26 วางพานพุ่มถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความคาดหวังของสถาบันพระปกเกล้าต่อนักศึกษา ปปร.26” 

           ซึ่งท่านได้กล่าวต้อนรับนักศึกษา และเน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำของผู้ที่เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรนี้ ความในช่วงหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นผู้นำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ท่านต้องการให้ประชาชนดูแลปกครองกันเอง จาก NOTE : Democracy in Siam พระองค์ทรงต้องการให้ตรากฎหมายเทศบาล คือเป็นการเตรียมการให้การศึกษาแก่ประชาชน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของประเทศต่าง ๆ รอบข้าง และจากหนังสือทรงอ่าน ทำให้ทราบถึงการศึกษาถึงระบอบการปกครองหลายหลายรูปแบบที่มีกระแสกดดันประเทศต่าง ๆ อยู่ในขณะนั้น หลังมีการปฏิวัติสยาม โดยคณะราษฎร พ.ศ.2575 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความคิดเห็นในการบริหารราชการไม่ตรงกับคณะราษฎร พระองค์ทรงประกาศสละราชสมบัติ บางส่วนของคำประกาศ “...…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร...” สิ่งที่พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยในวันนั้น ทำให้คนไทยไม่ต้องฆ่ากันเอง ไม่เกิดการนองเลือดบนแผ่นดิน นับเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติต่อประเทศชาติในเวลาต่อมาและกล่าวให้ความสำคัญกับผู้เข้าเรียนว่าเป็นผู้นำที่มีคุณค่าและทุนสูง สถาบันฯ มุ่งหวังให้เกิดผู้นำที่มีหลักการ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง คือจะเข้มแข็งทางวิชาการความรู้ ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม  นั่นคือการเป็น Wise Leadership  ที่มี KPI DNA ที่มุ่งหวังจะสร้างผู้เรียนให้มี K-Knowledge ที่เป็นองค์ความรู้จากห้องเรียนและประสบการณ์ โดยจะได้ความรู้ใหม่ที่รังสรรค์ร่วมกัน  P-Publicness การคิดถึงส่วนรวม ก่อให้ประโยชน์ต่อส่วนรวม I-Integrity คือความถูกต้องชอบธรรม คุณค่าที่สถาบันพระปกเกล้ามอบให้คือคุณค่าทางความรู้ และยังมีผู้มีคุณค่าทางศักยภาพ ที่จะเกิดต่อนักศึกษาที่เข้ามาเรียน และสร้างคุณค่าต่อสังคม 

            ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และรูปแบบการดำเนินการศึกษา ที่ประกอบด้วยการศึกษาในห้องเรียน และการทำโครงการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ และเสริมสร้างประสบการณ์นักบริหารเชิงประจักษ์ พร้อมด้วย นางณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ให้ข้อมูลกิจกรรม Executive Talk ที่นักศึกษาต้องจัด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ความรู้ที่แต่ละคนมี ให้สามารถนำไปสร้างความรู้ต่อยอดได้ หลังจากนั้น นักศึกษาทำความเข้าใจต่อแนวทางการประเมินผลหลักสูตร โดย ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์ประเมินผลหลักสูตร  ทั้งนี้ มีนักศึกษาเข้ารับการศึกษา จำนวน 150 คน โดยมีการเรียนการสอนที่ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด 

 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า