ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

ประชุมเชิงปฏิบัติการประชาธิปไตยโดยตรงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : กรณีศึกษา การเข้าชื่อเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย


           เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 : สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออก (East Asia Institute: EAI), สาธารณรัฐเกาหลี (South Korea) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ประชาธิปไตยทางตรงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : กรณีศึกษา การเข้าชื่อเสนอกฎหมายคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย” ณ ห้องสัตมรามาธิราช สถาบันพระปกเกล้า กิจกรรมดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า) กล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนา จากนั้น เป็นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Canada’s experience with the endorsement andimplementation of United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples” by Director General Keith Smith, Canadian Department of Justice ได้กล่าวถึง ภาพรวมของประชากรในประเทศแคนาดา รวมทั้งมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและผู้ลี้ภัยในประเทศแคนาดา

          จากนั้น เป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ “การร่างและเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” โดย ตัวแทนจากองค์กรที่เสนอร่างกฎหมาย โดยได้รับเกียรติจาก คุณณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ,คุณพชร คำชำนาญ ตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ,คุณมานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ,คุณศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ,คุณอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ดำเนินรายการโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

          เวทีเสวนาได้กล่าวถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถงสิทธิในบริการต่างๆของรัฐ การสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญา  รวมทั้ง ได้พูดถึงหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ฯ โดยมีประเด็นคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอีกเวทีเสวนาที่น่าสนใจ คือ การเสวนาหัวข้อ “ประสบการณ์และปัญหาการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองคุ้มครองและกลุ่มชาติพันธุ์” โดย ตัวแทนจากชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยจากหลากหลายภูมิภาค และดำเนิน รายการโดย ดร.อภิญญา ดิสสะมาน (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพระปกเกล้า) มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการได้รับการปฏิบัติในฐานะประชาชนคนหนึ่ง รวมทั้งกฎหมายที่รองรับสิทธิมนุษยชน และคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย 

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้รับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมาตรา 70 ไว้ว่า “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ..." สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์อีก 4 ฉบับที่เสนอโดยองค์กรอื่น ๆ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่นกัน  สถาบันพระปกเกล้า จึงเห็นความสำคัญต่อกลไกประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเป้าหมายในการเสริมสร้างประชาธิปไตย การคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเชิญตัวแทนจากผู้เสนอร่างกฎหมาย เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น รับฟัง วิเคราะห์ และพัฒนาร่างกฎหมาย จากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมมิติในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น รวมทั้งนำเสนอประเด็นการคุ้มครองสิทธิที่สอดคล้องกับบริบทของตน การพัฒนาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเสมอภาค ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและการร่วมกันในสังคมที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามวิถีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และจารีตประเพณีของตนบนพื้นฐานของสิทธิในการกำหนดตนเอง

 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า