ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

พิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสัมฤทธิบัตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน รุ่นที่ 26


              เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 : สถาบันพระปกเกล้าจัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสัมฤทธิบัตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน รุ่นที่ 26 (People’s Audit) ณ ห้องภูวนาทประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดและให้โอวาท และได้รับเกียรติจาก นางสาวสุพรรณี งามวุฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ กล่าวรายงานในพิธีเปิดการศึกษา พร้อมทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ร่วมในพิธีเปิดการศึกษาอบรม 

             เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายพิเศษ ความสำคัญว่า หลักสูตรสัมฤทธิบัตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นหลักสูตรที่เป็นกรณีศึกษาซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาอบรมแล้ว สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถปรับเปลี่ยนทัศนะของการทำงาน โดยสถาบันฯต้องการสร้างความรู้ (Knowledge) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้สอนและผู้เรียน สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆเกิดนวัตกรรมจากการเรียนรู้ ที่มีการสังเคราะห์ร่วมกัน สร้างทัศนคติในทางบวก (Attitude) เคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น และทักษะ (Skill) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดได้ 

             อีกทั้ง กล่าวถึง ปรากฎการณ์ Disrupt ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 
- เทคโนโลยี ซึ่งองค์กรต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นได้ง่าย 
- Pandemic เช่น ภาวการณ์เกิดโรคระบาด โควิด-19 ทำให้เราต้องปรับการทำงานให้เร็วขึ้น สามารถทำงานในรูปแบบออนไลน์ได้มากขึ้น โดยใช้การประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ การทำงานที่บ้าน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กระบวนการให้บริการสาธารณะมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ 
- New Generation มีรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ทำให้องค์กรต้องลดพื้นที่การทำงาน แต่ในส่วนของภาครัฐอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าภาคเอกชน ซึ่งยังคงต้องปรับเป้าหมาย และกระบวนการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

             ในช่วงท้าย ได้กล่าวสรุปว่า “การมีส่วนร่วม” แตกต่างจาก “การให้ความร่วมมือ” เพราะ“การมีส่วนร่วม”เกิดจากความเต็มใจ ความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม ส่วนความร่วมมือนั้น เกิดจากความเกรงใจ ดังนั้น “การมีส่วนร่วม” ทำให้การทำงานมีความยั่งยืน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง  หลักสูตรสัมฤทธิบัตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน (People’s Audit) รุ่นที่ 26 ใช้ระยะเวลาในการอบรม 10 วัน โดยอบรมระหว่างวันที่ 2-11 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จ.นครนายก มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 33 คน 

             สถาบันพระปกเกล้า ศึกษาวิจัยโครงการวัดระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีการพัฒนาหลักสูตร เพื่อขยายผลองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยไปต่อยอดขยายผลสู่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาสังคมให้เกิดความตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในเรื่องการบริการสาธารณะ ตลอดจนวางแผนและออกแบบการมีส่วนร่วมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า