หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 : เนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟริดิช เนามัน แห่งประเทศไทย จัดโครงการเวทีท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 “Change Change Change เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นอกจาก กิจกรรมการปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ว่ากทม.แล้ว ยังมีกิจกรรมการสัมมนากลุ่มย่อยที่น่าสนใจโดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 “เมืองอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน" (Traffy Fondue)
โดยวิทยากร ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) เมืองอัจฉริยะ เป็นประเด็นที่มีความท้าทายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยุคปัจจุบันมีความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย อีกทั้งยังต้องสนองตอบด้วยความสะดวก รวดเร็วและทันใจ ดังนั้น ทิศทางการจัดบริการสาธารณะในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นการออกแบบที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการจัดบริการสาธารณะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
กลุ่มที่ 2 “เมืองสร้างเงิน ด้วยพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
โดยวิทยากร รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เมืองสร้างเงิน คือ เมืองที่ส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีนวัตกรรมการทำธุรกิจใหม่กับสินค้าบริการใหม่ๆ เพื่อตอบรับความต้องการใหม่ในระบบเศรษฐกิจของเมืองและสภาวะดุลยภาพ ที่ความต้องการได้รับการเติมเต็มโดยการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจของเมืองก็ควรสนับสนุนการแข่งขันอย่างเสรี จะให้ความสำคัญ กับการสร้างสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการประกอบการที่เป็นธรรม โดยมีระบบ ธุรกิจ-ธุรกรรมที่สอดคล้องใกล้เคียงกับบริบทเศรษฐกิจภายนอกพื้นที่เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจระดับพื้นที่สามารถเชื่อมโยงประสานเข้ากับระบบเศรษฐกิจภายนอกได้
กลุ่มที่ 3 “เมืองการศึกษาเด่นเน้นการสร้างท้องถิ่นสู่เมืองแห่งการเรียนรู้” (Learning City)
โดยวิทยากร นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผอ.สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เมืองการศึกษาเด่น ลักษณะเมืองอัจฉริยะการศึกษาเด่น คือเมืองที่ส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาและชุมชนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการจัดการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรและการสอนตลอดจนขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ชุมชนทั้งในรูปแบบการศึกษานอกระบบและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
กลุ่มที่ 4 “เมืองสิ่งแวดล้อมดีที่ท้องถิ่นทำได้ : น้ำสะอาด อากาศดี พื้นที่สีเขียว”
เมืองสิ่งแวดล้อมดี เมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเมือง ที่ใช้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ามามีบทบาทสำคัญในแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสภาพความขาดแคลนพลังงานในอนาคต
กลุ่มที่ 5 “เมืองเฮลตี้ด้วยกองทุน กปท.(ช่วยท้องถิ่นได้อย่างไรบ้าง)”
โดยวิทยากร นายวีระชัย ก้อนมณี ที่ปรึกษา สปสช. เมืองเฮลท์ตี้ หรือ เมืองที่เด่นเรื่องการให้บริการด้านสาธารณสุขอัจฉริยะ เป็นเมืองที่ส่งเสริมสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงให้กับประชาชนทั้งการปรับพฤติกรรมสุขภาพและการปรับปรุงสุขภาวะตามสภาพแวดล้อมของเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีนวัตกรรมและการบริการจัดการอย่างชาญฉลาดที่จะช่วยให้เมืองสามารถบรรลุเป้าหมาย เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
กลุ่มที่ 6 “เมืองเตรียมพร้อมไม่หวั่นแม้วันวิกฤต”
โดยวิทยากร ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมืองเตรียมพร้อม เมืองที่มีการวางแผนรองรับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภูมิอากาศ อุทกภัย อัคคีภัย พร้อมรับมือในสภาวการณ์ฉุกเฉิน และมีระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเครื่องมือในการรับแจ้งเหตุและช่วยเหลือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว