หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 : เนื่องในโอกาสครบรอบ 24 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟริดิช เนามัน แห่งประเทศไทย จัดโครงการเวทีท้องถิ่นไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 “Change Change Change เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
วันที่สองของงานเวทีท้องถิ่นไทย ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บริหารอย่างไรให้ชนะใจประชาชน” โดยให้หลักการบริหารงาน และความเป็นผู้นำ ซึ่งความสำคัญว่า... การบริหารงานที่ชนะใจประชาชนต้องเริ่มที่ผู้บริหารต้องมีความชำนาญในเรื่องที่จะทำ ในกทม.มีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก และทุกปัญหาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนโยบาย ผู้บริหารต้องมองให้กว้างและไกลเหมือนยืนอยู่บนบ่ายักษ์ โดยต้องหาเครือข่ายและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาช่วยผนึกกำลังกันพัฒนาเมือง และวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เราทำยังเกี่ยวข้องกับโลกมั้ย สิ่งที่เราทำหรือเคยทำยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ยังใช้ได้หรือล้าสมัยไปแล้ว รวมทั้งเราต้องมีความสงสัยอยากรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ และปรับความคิดให้ทันสมัยติดตามข้อมูลใหม่ๆ ได้ และตอกย้ำว่า “ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง และคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้จะไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งอื่นได้เลย”
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สิ่งที่ทำก็คือ ต้องหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม รวมทั้งรักษ์โลก เช่น การนำป้ายหาเสียงมา reuse สร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวเอง ไม่ใช่มองแต่รูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งใช้การสื่อสารด้วยภาพการ์ตูน เพื่อต้องการให้สอดรับกับความสนุก และมีความหวัง เข้าถึงง่ายในการชี้แจงประเด็นการเมือง
ช่องทางการสื่อสารที่ใช้ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งสิ่งสำคัญคือ สื่อที่ครอบคลุมทั่วถึง เน้นการใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก เช่น ทวิตเตอร์ เพื่อนชัชชาติ ไอจี ติ๊กต๊อก โดยเน้นการสื่อสารที่สนุก ส่วนสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ใช้ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ประเด็นต่อมาคือ วิเคราะห์และพูดคุยกับทีมงานว่า ทีมสนุกอยู่กับสิ่งที่ทำหรือไม่ ถ้าทำแล้วไม่สนุก เราอาจะทำมันไม่เต็มที่และสุดท้ายผลลัพธ์จะออกมาไม่ดี รวมทั้งสร้างสื่อที่สร้างสรรค์และสื่อใหม่ๆ เช่น แต่งเพลงแรปหาเสียง เพื่อสื่อสาร 200 นโยบายชัชชาติในสองนาที
อีกทั้ง มีการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบาย ต้องมีหลักการกลยุทธ์ที่ดี มีการวิเคราะห์ข้อมูล แนวนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมทั้งใช้การบริหารและสื่อสารความคืบหน้า โดยทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ทำตามที่พูด ร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใช้เครื่องมือการสื่อสารคือ เฟสบุ๊คไลฟเพื่อให้ประชาชนรับรู้การทำงาน อีกทั้งให้นโยบายในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของกทม. Open กรุงเทพฯ ในส่วนของข้อมูล และเอกสารที่สามารถเปิดเผยได้ รวมทั้งปรับการให้บริการให้สะดวก รวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ เช่น สำนักงานเขต ศูนย์อนามัยของกทม. และกิจกรรมต่างๆ เช่น ผู้ว่าเที่ยงคืน ดนตรีในสวน กรุงเทพกลางแปลง เป็นต้น ในช่วงสุดท้าย ผู้ว่าชัชชาติฝากข้อคิดว่า “มิติการทำงานของเรากับสภาในเทอมนี้มีความหมายมากกว่าการบริหารกรุงเทพมหานคร เพราะเราต้องการสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และพร้อมจะทำให้ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”