หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล นำเสนอผลการวิจัย “การขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา” พร้อมเปิดเวทีอภิปราย “แนวทางการขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาสู่สังคม”ผ่านระบบ ZOOM โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมกล่าวนำถึงผลงานเด่นของหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันฯ รวมถึงหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการนำเสนอ โดย นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
นำเสนอผลการวิจัย “การขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา”โดย ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ได้กล่าวถึง สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสถานศึกษา ได้นำเสนอปลาทูน่า โมเดล สำหรับการอบรมขับเคลื่อนสันติวัฒนธรรม รวมถึงผลการขับเคลื่อนสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาให้กับเครือข่ายสถานศึกษา 19 แห่ง ทั้ง และผลการอบรมนักเรียน นักศึกษา จำนวน 3 ครั้ง คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก สมุทรปราการ โรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ จังหวัดสงขลา โดยโครงการที่นักเรียน นักศึกษาได้คิดและดำเนินการ คือ
1. โครงการลดการบูลลี่เรื่องความสวยหรือหน้าตาหรือการใช้คำพูด
2. โครงการลดความรุนแรงด้วยการรณรงค์และการอบรมผ่านกิจกรรมให้รุ่นน้อง และรณรงค์ให้ลดความรุนแรง
3. โครงการกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแผนก
4. โครงการจิตอาสาบริการชุมชน เช่นเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องยนต์ ทำระบบไฟฟ้า และโครงการจิตอาสาบริการในมหาวิทยาลัย
5. โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมและการยอมรับเพศทางเลือก นักวิจัยได้เสนอ ได้แก่ 1. ตั้งกลไกด้านการส่งเสริมสันติวัฒนธรรม โดยผลักดันเรื่องสันติวัฒนธรรม ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาในทุกระดับ 2. จัดให้มีการฝึกอบรม หรือมีการเรียนการสอนที่สอดแทรกหลักสูตรด้านสันติวัฒนธรรมในทุกสถาบัน
การอภิปรายประเด็น “แนวทางการขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษาสู่สังคม” โดยนายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา , ผศ. ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์และบรรณาธิการบริหารวารสารสิทธิและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ,นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) , นายชิษณุชา นวลปาน ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะ , นางวิภา เฟื่องฟูดำรงชัย ประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชน อำเภอพนมสารคาม และภาคีเครือข่ายโรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา
การนำเสนอผลงานวิจัยและการอภิปรายในวันนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ผลสรุปจากการอภิปรายคือ การขับเคลื่อนการสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา ทำได้หลายแนวทางทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติ โดยผลักดันตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ตามบริบทที่แตกต่างกันไป กิจกรรมที่ควรใช้เพื่อให้เกิดทัศนคติ และโครงสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน คือ การเรียนการสอนผ่านหลักสูตร การปลูกฝังด้านศาสนา การเล่นดนตรี กีฬา และศิลปะเพื่อพัฒนาจิตใจ และการผลักดันจะมีพลังควรทำในรูปแบบเครือข่ายที่มีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง