ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

บรรยายพิเศษ ครั้งที่ 3 เรื่อง ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองฯ


เมื่อวันที่ 22 ,26 และ 27 พฤษภาคม 2558 คณะทำงานดําเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทํารัฐธรรมนูญและการปฏิรูปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4 /2558 ซึ่งมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นฝ่ายธุรการและคณะทํางาน จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย” กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ใน 3 วัน ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ก่อนเริ่มการบรรยายในวันแรก (22 พฤษภาคม 2558) ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า แถลงข่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดการบรรยายพิเศษว่าเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประชาชน และสื่อมวลชน โดยได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมาให้ความรู้และบอกเล่าประสบการณ์ในการก้าวข้ามวิกฤตการณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศ การบรรยายในวันแรก โดย Prof.Dominique Rousseau ศาสตราจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยปารีสที่ 1 บรรยายเรื่อง“ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย” กรณีศึกษา การร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส Prof.Dominique Rousseau เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย การตรวจสอบความถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการให้ประชาชนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง การบรรยายในวันที่สอง (26 พฤษภาคม 2558) โดย Prof.Michel Troper ศาสตราจารย์เกียรติคุณมหาวิทยาลัยปารีสที่ 10 Nanterre บรรยายเรื่อง “ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย” กรณีศึกษา การร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดย Prof.Michel Troper มีแนวคิดที่แตกแขนงจากวิธีตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยยึดถือความเป็นจริงตาม “ทฤษฎีการตีความแบบสัจนิยม” กล่าวคือ กฎหมายจะใช้เป็นบรรทัดฐานและมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อมีการตีความโดยสถาบันยุติธรรมขั้นสูงสุดซึ่งคำตัดสินถือเป็นที่สุด ส่วนการบรรยายในวันที่สาม (27 พฤษภาคม 2558) โดย Prof.Ulrich Karpen ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบรูก กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี บรรยายเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยการบรรยายพิเศษในวันที่สาม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมรับฟังการบรรยายด้วย การจัดการบรรยายพิเศษทั้งสามวันมีผู้เข้ารับฟังการบรรยาย อันได้แก่ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ที่อยู่ในแวดลงของศาล ข้าราชการ ประชาชน และสื่อมวลชน วันละประมาณ 170 คน เนื้อหาการบรรยายทั้งสามวันนำเสนอแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศของสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีผ่านมุมมองและประสบการณ์ของวิทยากร โดยไม่มีการชี้แนะหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า