หน้าแรก | ข่าวสาร
ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 สถาบันพระปกเกล้า จัดกิจกรรมฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการสำหรับจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 3 (ภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 8 - 9 มิ.ย.65 : สถาบันพระปกเกล้า จัดหลักสูตรฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ สำหรับจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จ.พิษณุโลก
โดยในวันแรก ได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ความว่า “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” ในกระบวนการร่างกฎหมาย เป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้วางหลักดังกล่าวไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 วรรคสองว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้ง เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นการกำหนดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานตามแผนกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป จึงได้ออกแบบและพัฒนา “หลักสูตรฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการสำหรับจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป” ขึ้น ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น สามารถนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้ ตลอดจนเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต
จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความสำคัญของประชาชนในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป โดยเน้นความสำคัญว่า การปฏิรูปเหมือนการมีบ้านใหม่ หากประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน ประชาชนสามารถออกแบบบ้านตามความต้องการของได้และทุกครั้งที่มีการปฏิรูป สิ่งหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึง คือ รัฐธรรมนูญ และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หมายความว่า รัฐธรรมนูญ นั้น ประชาชนมีสิทธิออกแบบและแก้ไขได้ อีกทั้งกล่าวเพิ่มเติมถึงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 รวมทั้ง ยังเชื่อมโยงการออกแบบบ้านกับการร่างรัฐธรรมนูญ คือ ช่วงที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ เป็นช่วงเวลาที่ต้องวางภาพรวมสถาบันการเมือง การรับรองสิทธิเสรีภาพ กำหนดหน้าที่ของรัฐ ผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และช่วงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นช่วงเวลาที่ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสภาพความท้าทายที่เผชิญ ซึ่งต้องใช้กลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
จากนั้น เป็นการบรรยาย หัวข้อ “แนวคิดและหลักการเป็นวิทยากรกระบวนการ” โดย นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ (ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า) ซึ่งแนะนำเกี่ยวกับ คุณสมบัติการเป็นวิทยากรกระบวนการ เทคนิค วิธีการ รูปแบบการจัดกิจกรรมให้มีความน่าสนใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วม และแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ในภาคบ่าย เป็นการบรรยายหัวข้อ “เทคนิคและกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการจัดเวทีรับฟัง(ช่วงที่ 1) โดย ดร.อภิญญา ดิสสะมาน (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ) และดร.เลิศพร อุดมพงษ์ (นักวิชาการผู้ชำนาญการ) จากสถาบันพระปกเกล้า รวมทั้งการบรรยาย หัวข้อ “เทคนิคและกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการจัดเวทีรับฟัง (ช่วงที่ 2) โดย ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ และ นายณวัฒน์ ศรีปัดถา (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า)และการบรรยาย หัวข้อ "กระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบอื่นๆ" โดย ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า)
ในช่วงเย็นเป็นการฝึกปฏิบัติ หัวข้อ “การออกแบบกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการจัดเวทีรับฟัง โดยคณะวิทยากร ในวันที่สอง เป็นการฝึกปฏิบัติการ หัวข้อ "การออกแบบกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น" โดยผู้เข้าอบรมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ฝึกปฏิบัติการเป็นวิทยากรกระบวนการ ในประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการกระจายอำนาจ โดยผู้เข้าร่วมการประชุม และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งได้รับคำแนะนำจากคณะวิทยากรด้วย