ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

Webinar หัวข้อ Environmental Governance : Public Policy and Management for Sustainable Development in Thailand and Vietnam


            เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ Ho Chi Minh National Academy of Politics (HCMA) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดงาน Webinar หัวข้อ Environmental Governance: Public Policy and Management for Sustainable Development in Thailand and Vietnam เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ ความสำเร็จ และความท้าทายด้านการจัดการทรัพยากรของประเทศไทยและประเทศเวียดนาม  โดยในช่วงแรกพิธีเปิด ได้รับเกียรติจากผู้แทนทั้งสองหน่วยงาน คือ นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ Assoc. Prof. Dr.Duong Trung Y รองประธาน HCMA กล่าวเปิดงาน กล่าวในการเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยและเวียดนามได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นเวลา 46 ปีแล้ว ซึ่งได้มีความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการเมือง  การทูต เศรษฐกิจ และการลงทุน สถาบันพระปกเกล้าและ สถาบัน Ho Chi Minh National Academy of Politics เห็นว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดี เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่สนใจได้ร่วมเวทีสัมมนาวิชาการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่การนำเสนอประเด็นด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ต่อไป  

           จากนั้นเป็นการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Governance for Sustainable Development” โดย Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) มีใจความตอนหนึ่งว่า “การที่จะสร้างธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ควรมุ่งเน้นเป็นสามระดับ คือ 1.ระดับโลก (Global)  2. ระดับชาติ (National) 3.ระดับบุคคล (Individual)  ซึ่งในระดับที่สามนี้ เขาได้เน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้บุคคลมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงความเห็นและความต้องการของตนเองต่อสาธารณะ  ตลอดจนสร้างการมีฉันทามติร่วมกันในสังคมอย่างยั่งยืน”  

          ช่วงที่สอง เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยจากสองสถาบัน ได้แก่ หัวข้อ “Environmental Politics in Thailand: Policy Evolution and Management for Sustainability นำเสนอโดย นางสาวนิตยา โพธิ์นอก นักวิชาการ จากสำนักวิจัยและพัฒนาของสถาบันพระปกเกล้า  ได้ศึกษาวิจัยเรื่องเอกสารทางนโยบายไทยสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมทางการเมืองในประเทศไทย โดยได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยว่าเอกสารทางนโยบายไทยสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมหรือไม่   

          สรุปว่า เอกสารทางนโยบายในช่วงหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา สะท้อนความหมายของธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไทยอย่างสมบูรณ์  ขณะที่การเคลื่อนไหวจริงกลับยังมีการเคลื่อนไหว ของภาคประชาสังคมเพื่อร่วมแบ่งปันอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและมากขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีการปรึกษาหารือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือโครงการพัฒนาที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ส่วนการวิจัยในอนาคต ควรมีการสำรวจวิวัฒนาการการเมืองสิ่งแวดล้อมผ่านเอกสารทางนโยบายจากสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรอื่นของรัฐ  

          การศึกษาในหัวข้อที่ 2 นำเสนอโดย Assoc. Prof. Dr. Dang Thi Anh Tuyet, Deputy Director, Department of Scientific Management, HCMA  ได้นำเสนอบทความเรื่อง“Overview of Environmental Protection in Association with Sustainable Development and the Guiding Viewpoint of the Communist Party of Vietnam” โดยศึกษาถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมติของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น ซึ่งได้มีมาตรการทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบังคับใช้ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น

          การนำเสนอหัวข้อที่ 3 เป็นการนำเสนอบทความโดย ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงษ์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ “Study Findings: National Reform on Information Access Pertaining to Environment and Public Health (Between June 2018 - June 2019)” การนำเสนอหัวข้อ “Local Environment Governance in Vietnam through Survey of People’s Opinions” นำเสนอโดย Assoc. Prof. Dr. Le Van Chien, Director, Institute of Leadership and Public Policy ซึ่งศึกษาความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง เช่น คุณภาพอากาศ  คุณภาพน้ำ การป้องกันสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเสนอข้อเสนอแนะ ว่า การนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทางรัฐบาลเวียดนามกำหนดควรมีการกระทำอย่างจริงจัง  ควรมีการทบทวนข้อกำหนดด้านกฎหมายในการบังคับใช้ด้านสิ่งแวดล้อมและมีบทลงโทษที่มีความชัดเจน  และสร้างความตระหนักให้ประชาชนในการเผยแพร่กฎหมายดังกล่าว   ทั้งนี้  การนำเสนอดังกล่าว  ดำเนินรายการโดย ดร. ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า และร่วมวิพากษ์ โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.) 

         ในช่วงท้ายเป็นการกล่าวปิดการสัมมนาโดย Assoc. Prof. Dr. Hoang Van Nghia, Director General of ICD  ใจความตอนหนึ่งว่า นับเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่สนใจได้ร่วมเวทีสัมมนาวิชาการครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่การนำเสนอประเด็นด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศผ่านการจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ต่อไป  


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า