หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น กิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนแผนกิจกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (Big Rock) และความสำคัญของการปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฎิรูป” โดยเน้นความสำคัญของบทบาทภาคประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญในต่างประเทศ และรัฐธรรมนูญของไทย
จากนั้น เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เรื่อง สิทธิ เสรีภาพและการมีส่วนร่วม
รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองสิทธิของประชาชนไว้มากมาย มีสิทธิในหลายประเด็นที่ได้รับการรับรองไว้ไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาหลายฉบับ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ยังคงมีประเด็นให้ต้องการพื้นที่ในการพูดคุย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำหนดหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสิทธิเสรีภาพอาจถูกรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เช่น พระราชบัญญัติ ที่กำหนดกระบวนการเพื่อให้สามารถใช้สิทธินั้นได้ในทางปฏิบัติ เมื่อสิทธิของประชาชนได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญอย่างครอบคลุมและมีพระราชบัญญัติกำหนดขั้นตอนทางปฏิบัติก็จะทำให้ระบบกฎหมายของรัฐนั้น ๆ คุ้มครองประชาชนได้อย่างเต็มที่ ผู้เอื้อกระบวนการ ดร.อภิญญา ดิสสะมาน (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สถาบันพระปกเกล้า), ผู้ลิขิต คุณอรอุมา ภูมิบูรณ์ (พ.ฝึกอบรม สถาบันพระปกเกล้า)
กลุ่มที่ 2 เรื่อง สิทธิ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ หรือประโยชน์ของแผ่นดิน รวมทั้งปกป้องดูแลและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน โดยมีกลไกและข้อกำหนดกระจายไว้ในหมวดต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การคัดกรองคุณสมบัติของผู้ใช้อำนาจรัฐก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง กอดถอนผู้ที่ทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดให้รัฐสภา และองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ช่วยตรวจสอบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส และการตัดสินใจสำคัญต่างๆ ผู้เอื้อกระบวนการ คุณณวัฒน์ ศรีปัดถา (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า), ผู้ลิขิต คุณน้ำผึ้ง จิ๋วปัญญา (พ.ฝึกอบรมและบริหารโครงการชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า)
กลุ่มที่ 3 เรื่อง สิทธิ การกระจายอำนาจ
ประเด็นการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญได้แก่ การจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ การจัดการศึกษาทุกระดับ การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เอื้อกระบวนการ ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า) ,ผู้ลิขิต คุณวลัยพร ล้ออัศจรรย์ (นักบริหารโครงการชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า)
สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสถาบันวิชาการชั้นนำด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 หรือ Big Rock 1 การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ กิจกรรมปฏิรูปที่ 5 หรือ Big Rock 5 การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ภายใต้แนวคิดสำคัญเพื่อต้องการส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ เติบโตเป็นพลังที่เข้มแข็งของประเทศชาติและสังคมที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เข้าใจวิถีวัฒนธรรมแบบไทย พร้อมเป็นพลเมืองในอนาคตที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป