หน้าแรก | ข่าวสาร
หลักสูตร ไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก รุ่นที่ 11 (TAG 11) สถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 21 - 23 กรกฎาคม 2565 โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า และประธานกรรมการบริหารหลักสูตร ไทยกับประชาคมอาเซียนในเศรษฐกิจการเมืองโลก พร้อมด้วย ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข กรรมการบริหารหลักสูตรฯ นำคณะนักศึกษาเข้าศึกษาดูงาน ในวันแรก 22 ก.ค. 2565 ที่ บจ. อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ บจ. แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี บริษัทในเครือ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา รับความรู้ เรื่อง “นวัตกรรมพลังงานเพื่ออนาคต” จาก นายสมโภชน์ อาหุนัย (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์) และนายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ (Director & Deputy Chief Executive Officer บจ. อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)) และลงพื้นที่จริงชมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ที่ บจ. อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หลังจากนั้นชมสายการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ณ บจ. แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี
ในวันที่ 22 ก.ค. 2565 ลงพื้นที่ จังหวัดชลบุรี เข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง รับความรู้ เรื่อง “การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับงานพิธีการศุลกากร/การดำเนินการพิธีการศุลกากรด้วยระบบ Single Window” โดย นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ (ผู้อำนวยการ สนง. ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง) หลังจากนั้น ที่คณะเข้าเยี่ยมชมการตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน โดยมีนายวิรัช จิระเมธากุล (ผู้อำนวยการศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สทบ. และยังได้เข้าเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการตู้สินค้านำเข้าและส่งออกภายในท่าเรือ ณ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด ด้วย ต่อจากนั้นเดินทางไปยัง อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ รับฟังบรรยายสรุป “การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย” โดย ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ) จากนั้นเข้าชมอาคารศูนย์ประกอบและทดสอบระบบดาวเทียม (AIT) และSpace Inspirium
สำหรับว้นที่ 23 ก.ค. 2565 ศึกษาดูงานการบริหารจัดการท้องถิ่น ที่ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านวังน้ำดำ โดยมี นายวณิช จันทร์หอม (ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านวังน้ำดำ) บรรยายสรุป เรื่อง “การพัฒนาท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวนวัตวิถีและความร่วมมือของชุมชน” พร้อมนำคณะเยี่ยมชมการดำเนินงานของชุมชน การศึกษาดูงานเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ (Knowledge) ไม่เพียงแต่จากหลักวิชา (Explicit Knowledge) แต่ยังได้ความรู้จากการปฏิบัติ (Tacit Knowledge) และความรู้จากประสบการณ์จริง ด้วยการ “ลงไปสัมผัสด้วยตนเอง” ให้เกิดการมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความรู้ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ ตามคุณลักษณะของผู้เข้ารับการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ที่จะเกิด KPI DNA มุ่งหวังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วย