หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สำนักคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเวทีสนทนาสาธารณะ “โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย” ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายอุทิศ บัวศรี (รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมชี้แจงแนวนโยบายการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักงานป.ป.ช. จากนั้น ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย” โดยกล่าวความสำคัญว่า จากข้อมูล CPI : Corruption Percetion Index ปี 2021 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำให้ปัญหาการทุจริตลดลงเราต้องทำสถานการณ์จริงให้ปรากฏมากกว่าการตอบโต้ด้วยการโต้แย้ง สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน คือ 1) ต้องจับได้จึงจะรู้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น 2) การทุจริตคอร์รัปชันมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายที่ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล และการทุจริตคอร์รัปชัน ในระดับปฏิบัติการ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ศาลพิพากษาคดีเสร็จสิ้นแล้ว อีกทั้งในระดับ minor หรือประเด็นเล็กๆน้อยๆ ซึ่งย้ำว่า บริบทต่างๆนี้ ต้องพิจารณาถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งหามาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ 3) Perception การรับรู้ว่าหน่วยงานใดมีกรณีทุจริตจะถูกเหมารวมว่าการดำเนินงานในประเภทเดียวกันมีการทุจริตไปด้วย เช่น กรณีการสร้างเสาราชาเทวะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น ต้องพิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วยว่า หน่วยงานมีอำนาจทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ควรทำ และใครโกงหรือไม่
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามีมุมมองต่อประเด็น Corruption Perception ว่า สังคมมองว่า คดีการจับกุมปราบปรามการทุจริตนั้น จับได้แต่ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งค้านสายตาของสังคม ปัญหาและคดีการทุจริตคอร์รัปชันมีมาก ต้องสร้างกลไกการเปิดเผยตรวจสอบได้ เข้าถึงได้ง่าย สังคมมองว่ามีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะสังคมที่มีการแบ่งขั้วทางความคิดทางการเมืองมีเรื่องอคติ ทางออกคือ ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง หน่วยงานกลางที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยและแสดงข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้