หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาออนไลน์ “Kick off โครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น) กล่าวเปิดงาน การจัดสัมมนา “Kick off โครงการวิจัยขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้าทางการศึกษา” ในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างสถาบันพระปกเกล้าและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมาย เป็นการจุดประกายความคิดรวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทั้งสามหัวข้อมาเป็นวิทยากร ซึ่งการสัมมนาจะปิดท้ายด้วยการชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนการดาเนินโครงการวิจัย เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการในการดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกัน
จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษ “จุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจแนวทางการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของท้องถิ่นไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา กิตติมศักดิ์) ความตอนหนึ่งว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีต้นทุนทางสังคมที่ดีในการจัดการศึกษา มีความเป็นเอกภาพในการบริหารการศึกษา และสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมการศึกษาไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆเพื่อสร้าง Education for All และ All for Education ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ โดย 4 ความเชื่อในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้แก่ 1.) ต้องเชื่อว่าการศึกษาเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย 2.) ต้องเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามีอยู่จริง 3.) ต้องเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำแก้ได้ด้วยการสร้างโอกาสและระบบที่เท่าเทียม 4.) การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องแก้ที่พื้นที่ โดยสรุปว่า “ปุ๋ยที่ดีที่สุดของต้นไม้คือ เงาของผู้ปลูก คุณภาพการศึกษาจะสัมฤทธิผลก็ด้วยความใส่ใจของผู้บริหารโรงเรียนเพราะการศึกษา คือ ความงอกงาม
การบรรยายหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : โจทย์สำคัญที่ท้องถิ่นไทยกำลังเผชิญ” โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท (ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ซึ่งกล่าวถึง สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย การฟื้นตัวของระบบการศึกษาไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเส้นทางระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา (Age Line) กรอบแนวทางการจัดการเชิงพื้นที่ การบรรยายหัวข้อ “อนาคตการศึกษาไทย : โอกาสและความท้าทายของท้องถิ่น” โดย อาจารย์ณิชา พิทยาพงศกร (ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้)
ในช่วงท้ายของกิจกรรม เป็นการชี้แจงรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินโครงการวิจัย โดย ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) อ.วิลาวัณย์ หงษ์นคร (นักวิชาการผู้ชำนาญการ วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น) โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวน 10 หน่วยงาน การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ 20 ปี โดยภาครัฐมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ โดยประเทศไทยได้เผชิญความเหลื่อมล้าในมิติด้านการศึกษา เด็กและเยาวชนไทยกำลังประสบกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและคุณภาพของการศึกษาด้วย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องด้วย เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการบริการสาธารณะ จึงสามารถใช้ระบบงบประมาณ บุคลากร และดำเนินการเพื่อจัดการศึกษาได้อย่างมีเอกภาพ มีอิสระ ทำให้เกิดคุณภาพทางการศึกษาได้ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทางการศึกษากับปัญหาอื่นในสังคมท้องถิ่นได้ และสร้างเป็น ห้องปฏิบัติการทางสังคม ทำให้เกิดการเรียนรู้ปัญหาจากวิถีชีวิตจริงของชุมชนได้