หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่ 4 ณ ห้องสุโขทัยธรรมราชา สถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการศึกษาอบรม และบรรยายพิเศษ เรื่อง "สถาบันพระปกเกล้ากับการสร้างผู้นำ" แนวคิดการจัดการความขัดแย้งได้เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความตอนหนึ่งว่า "24 มิถุนายน 2547 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในหลายประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดสงครามกลางเมือง การนองเลือด มีเพียงประเทศไทยที่มิได้เกิดสิ่งเหล่านี้ เพราะความเด็ดเดี่ยว เสียสละ ของรัชกาลที่ 7 เพราะพระองค์ทรงไม่ต้องการเห็นคนไทยต่อสู้กัน นี่คือ สันติวิธีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง และก็สถาบันฯ ได้น้อมนำปณิธานด้านสันติวิธีของพระองค์ท่านมาสู่การดำเนินงาน และยังมุ่งเน้นไปที่ธรรมภิบาลด้วย” พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการเข้ามาศึกษาในสถาบันพระปกเกล้า ที่ต้องการสร้างผู้นำที่คำนึงถึงสังคม และสังคมจะอยู่อย่างสงบสุข ไม่เกิดความขัดแย้งประชาชนต้องอยู่ในกติกาเดียวกัน นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ ถือเป็นต้นทุนที่ทรงคุณค่า นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมจากสถาบันพระปกเกล้าจะมีคุณลักษณะที่เรียกว่า KPI DNA นักศึกษาจะต้องได้ความรู้ K-Knowledge ที่ไม่ใช่เพียงความรู้จากการบรรยายในห้องเรียน ยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ที่มีซึ่งถือเป็นทุนใหญ่ และการลงพื้นที่ทัศนะศึกษา นำมาสังเคราะห์ให้เกิด Knowledge Co-creation ส่วน P-Publicness คือ ทำประโยชน์สาธารณะ การมีจิตใจคิดถึงส่วนรวม ซึ่งไม่ได้แปลว่าส่วนใหญ่ แต่หมายถึงส่วนใหญ่และส่วนน้อย ให้ความสำคัญกับความแตกต่าง เห็นปัญหาของสังคมเมื่อมีโอกาสก็สามารถทำได้ทันที สำหรับ I-Integrity อันดับแรกคือความซื่อตรงต่อตนเอง การเคารพต่อหน้าที่ สถาบันพระปกเกล้ามุ่งหวังให้ KPI DNA ได้ถ่ายทอดสู่นักศึกษา และได้ทำประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมต่อไป ทั้งนี้มีพลเอก เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ก็เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของความขัดแย้ง สร้างทักษะในการวิเคราะห์ความขัดแย้งและแนวทางการจัดการความแย้งด้วยสันติวิธีอย่างเป็นระบบ ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้นำชุมชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 46 คน จากนั้น ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ให้ความรู้ในเรื่อง "พื้นฐานหลักในการสร้างสันติสุข"
ในช่วงบ่ายศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ "สันติวิธีกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" และนักศึกษายังได้รับข้อมูล IT สำหรับการศึกษา และการค้นคว้าเอกสารจากห้องสมุดด้วย