หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2563 สถาบันพระปกเกล้า โดย วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น จัดเสวนา Online ภายใต้แนวคิด Local Talk Series : New Chance in New Normal กับ 8 ประเด็นที่ท้องถิ่นไทยไม่ควรพลาดขึ้น ซึ่งเวทีในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรม ครั้งที่ 3 Local Talk Series EP 3 โดยได้รับเกียรติจาก “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” (รองอธิการบดีฝ่ายสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต) มาเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น :“บ้านและชุมชน”ฐานที่มั่นใหม่ นัยยะต่อการทำงานของท้องถิ่น”
ความส่วนหนึ่งช่วงของการเสวนากล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ New Normal ที่ทำให้ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีผลกระทบทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องปรับตัวให้มีความเข้มแข็ง มีบทบาทในการจัดการภาวะวิกฤต มีศักยภาพในการเรียนรู้ และปรับตัว ซึ่งประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในชุมชนท้องถิ่น มากกว่าประเทศในภูมิภาคตะวันตก อีกทั้งคนไทยมีอัตลักษณ์ที่เป็นมนุษย์สังคม ให้ความสำคัญกับครอบครัว มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็น “ทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่”
โดยคนไทยปรับตัวและรับมือได้ดีในภาวะวิกฤต แต่ในภาวะปกติอาจจะมีความหย่อนยานไปบ้าง ซึ่งก็ควรฝึกฝนเรียนรู้ให้รับมือกับภาวะวิกฤต “บ้านและชุมชนเป็นอาวุธที่สำคัญในสังคมไทย” หากมองในบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตเราต้องทำให้ครอบครัวเป็นหน่วยเศรษฐกิจระดับต้นของชุมชน และชุมชนต้องไปส่งเสริมงานในภูมิภาค ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ท้องถิ่นต้องคิดทำ Local Economy ซึ่งเดิมมักคิดว่าเป็นส่วนเสริมหรือสนับสนุนนโยบายของส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งจุดแข็งของชุมชนตัวเอง (Spirit of the City) เช่น เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนา ต้องสร้างเรื่องราวของท้องถิ่น ทำให้เกิดความภูมิใจในท้องถิ่น ให้เกิด “ท้องถิ่นนิยม” ไม่ใช่เป็นชาตินิยมเพียงอย่างเดียว โดยการฝึกให้คนในชุมชนดูแลพื้นที่เล็กๆ ฝึกให้รักและภูมิใจในพื้นที่ของตนเอง อาทิ การดูแลผู้สูงวัย การดูแลเด็กเล็กของชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การสร้างชุมชนให้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจโดยการพัฒนาด้านการเกษตร ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ ส่งผลให้ราคาผลผลิตการเกษตรสูงขึ้น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่น การวางผังเมือง ความปลอดภัย และด้านสาธารณสุข