ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

กิจกรรม Local Talk Series EP4 ความเหลื่อมล้ำในสังคม โจทย์ใหม่ท้องถิ่นไทย


             เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 สถาบันพระปกเกล้า โดย วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น จัดเสวนา Online ภายใต้แนวคิด Local Talk Series : New Chance in New Normal กับ 8 ประเด็นที่ท้องถิ่นไทยไม่ควรพลาดขึ้น ซึ่งเวทีในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรม ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมชัย จิตสุชน (ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI)) มาเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น “ความเหลื่อมล้ำในสังคม : โจทย์ใหม่ท้องถิ่นไทย” ดำเนินการเสวนาโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า)

            ความส่วนหนึ่งช่วงของการเสวนากล่าวถึงภาพรวมของความเหลื่อมล้ำในสังคม จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีประเด็นเห็นชัดขึ้น มิติความเหลื่อมล้ำที่คนไทยรับไม่ได้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากคนรวยที่ไม่สมควรรวย เช่นการผูกขาด ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เรื่องของภาษี ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก จะทำความเหลื่อมล้ำลดลง งานวิจัยส่วนหนึ่งอ้างถึงเรื่องการตัดถนน ผู้ที่ได้ประโยชน์ หรือใช้พื้นที่ถนนได้มากกว่าคือคนรวย ผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงคือเป็นผู้ที่มีรถเป็นส่วนใหญ่ การศึกษาฟรี 15 ปี ดูเหมือนจะช่วยคนจน แต่คนจนมักจะออกจากภาคการศึกษาก่อนกำหนด ดังนั้นจึงอาจไม่ได้ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง ด้านสาธารณสุข กรณี 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นแนวโน้มที่ให้ประโยชน์กับคนมีรายได้น้อยมากขึ้น คนจนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้ดีขึ้น ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการรักษาได้ระดับหนึ่ง ด้านแรงงาน จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรงงานต่างชาติหายไปเป็นจำนวนมากส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และแรงงานในประเทศไม่เพียงพอ และไม่มีฝีมือ อปท.ต้องสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาฝีมือ จะให้มีภาษีมาสนับสนุนท้องถิ่น

แนวทางที่ อปท.ต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ New Normal คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ คือการพยายามดูแลคนในพื้นที่ เพิ่มศักยภาพของคน ในด้านต่าง ๆ

         1.การศึกษา ควรโอนให้อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการควรดูแลการยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีความเข้าใจคนในพื้นที่และงบประมาณท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ ส่วนการ Monitor คุณภาพการศึกษา ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

         2.การอบรม (Training) โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 การสร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับสังคม ภาคธุรกิจต้องการแบบไหน ทักษะอย่างไร อปท. ต้องปรับตัว การ Re-Skill Up-Skill ต้องตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปอย่างพลิกผัน

         3.การสาธารณะสุข อปท. ต้องดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าคนแข็งแรง จะสามารถทำประโยชน์ได้อีกมาก ไม่เป็นภาระให้ท้องถิ่นต้องเสียงบประมาณดูแล

         4.ด้านสวัสดิการ อปท.ต้องบริหารจัดการด้วยตนเอง อย่างการดูแลผู้สูงอายุ เด็ก เป็นต้น เนื่องจากท้องถิ่นจะรู้จักและเข้าใจพฤติกรรม และวิถีชีวิตในชุมชนเป็นอย่างดี

         มีความคำถามและแบ่งปันความคิดเห็นจากผู้ชม Live อย่างน่าสนใจ ประเด็นความเหลื่อมล้ำในอดีตกับปัจจุบัน ส่วนไหนมากกว่ากัน ดร.สมชัยฯ ให้ความเห็นว่าข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยติดอันดับความเหลื่อมล้ำใน 5 อันดับแรกของโลก อันเนื่องจาก การผูกขาดที่มากขึ้น การคอร์รับชันก็ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำเช่นกัน

         วาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม สะท้อนปัญหารากเหง้าความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจและความอ่อนแอของระบบราชการ ดังนั้นต้องทำให้สังคมเกิดความตื่นรู้ ตระหนักรู้ โดยเฉพาะสถานการณ์ในช่วงนี้จะเห็นว่าประชาชนทำให้เกิดปรากฏการณ์มองเป็นแนวทางเดียวกัน ที่มองเห็นช่องว่างของระบบราชการและปลุกกระแสการตรวจสอบมากขึ้น

         “เงินเยียวยา” ที่เกิดขึ้นในยุคสถานการณ์โควิด-19 ควรให้หลักคิดการดูแลประชาชนแบบ Rights based ซึ่งไม่ใช่การสงเคราะห์ คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้ ต้องมีการสำรวจคนจน ต้องไม่ตกหล่น จะทำมีสิทธิขั้นพื้นฐานได้ครบถ้วน แต่การสงเคราะห์จะเป็นการคัดกรองผู้มีคุณสมบัติเพื่อสงเคราะห์ ทำให้เกิดความไม่ทั่วถึงและเหลื่อมล้ำได้ แต่ต้องเลือกทำเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับงบประมาณที่จะสนับสนุน ถ้าเกิดภาวะวิกฤติ Rights based จะเป็นตัวขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแรง

         ในช่วงท้าย ดร.สมชัยฯ กล่าวถึงท้องถิ่นที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ตามทฤษฎีกระบวนการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ และจะรู้ว่าเลือกใครเพราะทำประโยชน์อะไร ก็จะทำให้ได้นักการเมืองที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอย่างแท้จริง และ รศ.ดร.อรทัยฯ กล่าวสรุปส่งท้ายการเสวนาว่า การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อ อปท. ในยุค COVID-19 และหลัง COVID-19 ทั้งด้านการศึกษา แรงงาน และสุขภาพ ต้องตระหนักและตื่นตัวอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

         ทั้งนี้ การเสวนาจัดเผยแพร่ทาง Facebook LIVE ของวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า และ Facebook LIVE ของสถาบันพระปกเกล้า กิจกรรมครั้งต่อไป Local Talk Series EP.5 จะมีขึ้น ในวันที่ 13 ส.ค.63 (เวลา 15.00 น.) พบกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในประเด็น “ลดช่องว่างการศึกษา : ท้องถิ่นทำได้แค่ไหน อย่างไร?”


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า