หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการ “Parliamentary Commission 4.0” ครั้งที่ 2 เป็นการสัมมนาระดมสมองเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัย ในหัวข้อ “การจัดวางตำแหน่งใหม่ประเทศไทย : สู่ Brand Thailand และ Soft Power” ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 412 อาคารรัฐสภา
โดยได้รับเกียรติจาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา มีรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวรายงาน กล่าวต้อนรับผู้เข้าสัมมนาโดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นเป็นการเปิดเวทีสัมมนาจากวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข (รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN WATCH) สกสว.) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม (ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และนายกวี จงกิจถาวร (นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญลักษณ์ วีระสมบัติ โดยแต่ละท่านได้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยรวมถึงข้อเสนอทางนโยบายเรื่องการสร้าง Brand Thailand และ Soft Power ภายใต้โครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN WATCH) แล้วจึงเป็นการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
ท่ามกลางความท้าทายหลายประการในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด มุมมองเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ต้องมีการจัดวางตำแหน่งประเทศไทยใหม่ การสร้าง Brand Thailand และ Soft Power จึงมีความสำคัญ ต้องทันสมัยและน่าสนใจ การสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนข้อมูล มุมมองและองค์ความรู้ต่อบุคลากรในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร สร้างเครือข่ายทางวิชาการและชุมชนทางนโยบาย (policy network and community) ที่เกี่ยวข้องในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถสนับสนุนการบริหารประเทศท่ามกลางสภาพการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภายในและภายนอกประเทศ