หน้าแรก | คลังความรู้
เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม : นัยของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำ บทเรียนจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
โดย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เสนอต่อ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
งานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ถึงนัยของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มต่อความเหลื่อมล้ำ โดยเจาะจงไปที่แพลตฟอร์มประเภทที่ยึดโยงกับการจ้างงานบริการ หรือที่เรียกว่า แพลตฟอร์มแรงงานดิจิทัล เช่น การจ้างบริการขนส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน (อาทิเช่น LineMan) การใช้บริการที่พักผ่านแอปพลิเคชัน (อาทิเช่น AirBnB) หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน (อาทิเช่น Grab) การศึกษาใช้วิธีสืบค้นข้อมูลทุติยภูมิและเปรียบเทียบกรณีศึกษาจากต่างประเทศ รวมไปถึงการสัมภาษณ์แรงงานและเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผลการศึกษาพบว่าถึงแม้ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้แก่แรงงานที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่โอกาสนี้ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะเพียงพอจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเป็นแรงงานดิจิทัลส่วนใหญ่จะไม่ได้รับสวัสดิการการจ้างงาน หรือ หลักประกันการจ้างงานใดๆ นอกจากนี้แล้วในแง่ของหน่วยธุรกิจ ยังพบว่าการมีพลังเครือข่าย (Network Effects) ของธุรกิจแพลตฟอร์มยังทำให้แพลตฟอร์มรายใหญ่ๆมีอำนาจกีดกันการเข้ามาแข่งขันของแพลตฟอร์มรายเล็กๆได้อีกด้วย