หน้าแรก | คลังความรู้
รายงานวิจัยชุมชนเรื่อง มุมมองประชาชนต่อนโยบายภาครัฐที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษา“ทุ่งยางแดงโมเดล”
ดำเนินการวิจัยโดย ดร.สุไรยา หนิเร่ / อ.สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร
สนับสนุนโดย สถาบันพระปกเกล้า
การศึกษาวิจัยเรื่องมุมมองประชาชนต่อนโยบายภาครัฐที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษา“ทุ่งยางแดงโมเดล” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” และศึกษามุมมองของประชาชนต่อนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงในชีวิต (ความปลอดภัย) ด้านสุขภาพจิต และด้านความเชื่อมั่นต่อองค์กรต่างๆ ในพื้นที่
ผลการศึกษา พบว่า ด้านการรับรู้และเข้าใจของประชาชนต่อนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” ประชาชนในพื้นที่เคยได้ยินและรับรู้โดยตลอดต่อนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล และได้มีความเข้าใจพอสมควร ผ่านการรับรู้จากการจัดเวทีทำความเข้าใจในเรื่องการทำงานในพื้นที่ให้แก่ทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดสังคมสงบสุขสู่แดนใต้ และได้มีการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ เช่น ผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ตลอดจนมีการพูดถึงต่อๆ กัน และมีการชี้แจงกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ทุ่งยางแดงโมเดล ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะทางอำเภอ ได้เชิญฝ่ายการศึกษาในพื้นที่เพื่อเข้าไปรับฟังข้อชี้แจงโครงการ นโยบายต่างๆ ส่งผลให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่เกิดความรักและหวงแหนพื้นที่ชุมชนตนเอง ซึ่งประชาชนในพื้นที่มองว่านโยบายทุ่งยางแดงโมเดลนั้น ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่ในทางกลับกันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะมีความเข้าใจลึกซึ้งในความปรารถนาดีจากหน่วยงานภาครัฐที่ได้มอบให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่กล้าการันตีว่าดี” แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะแค่รับรู้ว่ามันจะมีอะไรใหม่เข้ามาในพื้นที่ ผ่านการเสนอจากหน่วยงานภาครัฐ เสมือนกับว่าเป็นพื้นที่ทดลองเป็น“ยาตัวใหม่และเป็นยาทาแผลสด”