ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

กิจกรรม Local Talk Series EP3 (SS2) Time to Vote ถึงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น


         เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนา Online ภายใต้แนวคิด Local Talk Series : Time to Vote ถึงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น กับประเด็น EP3: “อนาคตอบจ.อนาคตกระจายอำนาจไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.จรัส  สุวรรณมาลา  (อาจารย์ประจำสถาบันรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต) เป็นวิทยากร และดำเนินรายการ โดย ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

         ศ.ดร.จรัส  สุวรรณมาลา  กล่าวในการเสวนาว่า อบจ.มีบทบาทสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นไทย สามารถเป็นหน่วยงานที่รวมพลังของท้องถิ่นได้ ช่วยลดช่องว่างและช่วยเติมเต็มขีดความสามารถของอบต. และเทศบาล อบจ.เป็นที่พึ่งของอบต. หลังจากที่มีการเลือกตั้งนายกอบจ.ตั้งแต่ปี 2546 เราได้ผู้นำที่เข้มแข็งมากขึ้น มีผลงานเด่นชัดมากขึ้น หลายๆปีที่ผ่านมา บทบาทของทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ.ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ เราเห็นภาพความร่วมมือกันในท้องถิ่นที่เห็นชัดเจนโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้มีความตื่นตัวสูงมาก ผู้สมัครหรือผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งการเมืองระดับชาติมาลงรับสมัครเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น 

         การพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่เล็กๆ จะมีข้อจำกัดมาก เช่น การสร้างถนน อบต.หลายแห่งไม่สามารถดูแลได้ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เราต้องทบทวนภารกิจการถ่ายโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น แต่ในท้องถิ่นขนาดใหญ่ทำได้ อบจ.หลายแห่งมาดูแลเรื่องการศึกษา เช่น จ.กระบี่  จ.แพร่  จ.ชลบุรี เกิดโรงเรียนของท้องถิ่นที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่าโรงเรียนใหญ่ในเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการหมุนเวียนในแต่ละจังหวัดต้องให้อบจ.ดำเนินการ ซึ่งมีศักยภาพมากกว่า อบต.และเทศบาล  อบจ.มีจุดเด่นในเรื่องความสามารถในการบริหารงบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานจังหวัด การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สาธารณะ เช่น การจัดการขยะ ซึ่งอบจ.สามารถทำได้ดีกว่า

         การเลือกตั้งอบจ.ในครั้งนี้ จะพิสูจน์ผู้นำท้องถิ่นได้ด้วยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับได้หรือไม่ ท้องถิ่นที่มีการพัฒนา คือ ผู้นำท้องถิ่นที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ ซึ่งปัญหาที่พบคือ การบริหารทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่น เกิดปัญหาการทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้น ท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะมีการทำงานเป็นทีม เป็นเครือข่ายในการพัฒนาท้องถิ่น มองพรรคการเมืองระดับชาติ ไม่อยากให้เข้ามาในการเมืองท้องถิ่น อยากให้เป็นการบริหารงานของ ผู้บริหารท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่อยากให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมืองระดับชาติ 

         การเลือกตั้งอบจ.อาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติ อาจจะเกี่ยวข้องกับการคุมฐานเสียงการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าจังหวัดที่มีความเป็นชนบทเยอะ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนจะเลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่พึ่งพาได้ ยกเว้นจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดยะลา หน่วยงานที่เด่นคือ เทศบาล มากกว่า อบจ. 

         การกระจายอำนาจที่ผ่านมา การถ่ายโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น แต่พบข้อจำกัดในเรื่องความสำเร็จในการกระจายอำนาจในท้องถิ่นขนาดเล็กมีข้อจำกัดทำงานในระดับใหญ่ๆไม่ได้ มองว่า อบจ.จะเป็นหน่วยที่สามารถพัฒนาไปได้ การกระจายอำนาจรัฐบาลต้องเข้มแข็ง อยากเห็นส่วนราชการภูมิภาคทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้ ต้องปรับเปลี่ยนกลไกการจัดสรรงบประมาณต้องลงไปในพื้นที่โดยตรง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารท้องถิ่นบริหารจัดการได้โดยตรง จะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงานและพัฒนาท้องถิ่น


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า