หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับเทศบาลตำบลหัวเวียง จ.พระนครศรีอยุธยา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Workshop Online “โครงการนวัตกรรมชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด-19” ณ ภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระเกล้า และห้องประชุมตำบลหัวเวียง
งานประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้รับเกียรติจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า) อธิบายรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ และดำเนินการประชุมส่วนที่ 1 การระดมความคิดเห็นจาก 2 ชุมชน คือ ชุมชนหัวเวียง กับชุมชนบ้านกระทุ่ม จากนั้น เป็นการดำเนินการประชุมส่วนที่ 2 การพัฒนาความคิดสู่ข้อเสนอโครงการชุมชน โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์ (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง) และ ดร.เลิศพร อุดมพงษ์ (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า)
จากนั้น เป็นการระดมความคิดเห็น กิจกรรมการค้นหาสิ่งดีๆ จากโมเดลรูปปลา อาทิ สิ่งดีๆที่มีในชุมชนของท่านมีอะไรบ้าง สิ่งดีๆที่มีในชุมชนของท่านอยู่ที่ใดบ้าง สิ่งดีๆเหล่านี้ ท่านคิดว่าจะสามารถนำมาใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ในชุมชนได้อย่างไร และนำเสนอความคิดกลุ่ม รวมทั้งจากสิ่งดีๆในชุมชนของเราหากจะนำมาพัฒนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลและเกิดประโยชน์กับชุมชนด้วย ต้องทำอย่างไร และการจัดทำแผนปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และนำเสนอแผนปฏิบัติการในช่วงท้ายของการประชุม
กิจกรรมดังกล่าว เป็นงานภายใต้ “โครงการวิจัยนวัตกรรมชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลังวิกฤตการณ์ COVID-19” โดยปัจจุบันภาคประชาชนหรือชุมชน มีการเติบโตอย่างเข้มแข็งและขยายบทบาทการดำเนินภารกิจหลายประการที่อาจเทียบเคียงหรือสามารถแทนที่บทบาทบางส่วนของภาครัฐ โดยใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่ชุมชนมีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับชุมชน เพื่อสนองตอบต่อปัญหาและข้อเรียกร้องของคนในชุมชน “นวัตกรรมชุมชน” จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแข็งและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนได้ โดยเฉพาะภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
การศึกษาการพัฒนานวัตกรรมชุมชนของพื้นที่กรณีศึกษาโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research) ซึ่งให้คนในพื้นที่กรณีศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมชุมชนร่วมกับคณะผู้วิจัย โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การศึกษาบริบทในพื้นที่กรณีศึกษาทั้งทุนทางสังคม สภาพปัญหา และความต้องการของคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมชุมชนที่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่กรณีศึกษาหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)