หน้าแรก | ข่าวสาร
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนา ออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Local Talk Series : Time to Vote ถึงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น กับประเด็น EP 5: “ประชาชนได้อะไร?กับการเลือกตั้งเทศบาล” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ตระกูล มีชัย (รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ (รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นวิทยากร และดำเนินรายการ โดย รศ.ดร.อรทัย ก๊กผล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) ณ ห้องประชุม สถาบันพระปกเกล้า
วิทยากรได้แลกเปลี่ยนมุมมองควันหลงการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่ผ่านมา ดังนี้
รศ.ตระกูล มีชัย กล่าวว่า การเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ แต่การเลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมายังไม่เห็นความโดดเด่นเรื่องนโยบายของผู้สมัคร โดยมีผู้มาใช้สิทธิ 62% ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก และมีข้อสังเกตจากการเลือกตั้ง อบจ.ว่าไม่มีข่าว การซื้อเสียง การทุจริตเลือกตั้ง และส่วนใหญ่นายก อบจ.คนเดิมจะได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในอดีตที่สนามการเลือกตั้งนายกอบจ.มีการต่อสู้อย่างเข้มข้นมากกว่า
ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งนายก.อบจ.ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองเดิมและผู้สมัครหน้าเดิมเข้ามามาก แต่บรรยากาศการเลือกตั้งค่อนข้างเงียบเหงา อาจจะมาจากสาเหตุการระบาดของโควิด-19 และกฏ กติกาการเลือกตั้งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ครม.ประกาศวันเลือกตั้งนายกอบจ.แบบฉุกละหุก ผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่มีโอกาสหาเสียงในพื้นที่ได้น้อย เนื่องจากเวลาจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงได้นายกอบจ.คนหน้าเก่า มากกว่าคนใหม่ๆ รวมทั้งยังไม่เห็นบทบาทอย่างเด่นชัดขององค์กรที่ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ และด้วยเหตุปัจจัยที่มาจาก กฏ กติกา การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ กกต.กำหนด จึงทำให้การเลือกตั้งอบจ.ขาดเสน่ห์ ที่มีสีสัน
สำหรับมุมมองเรื่องการเลือกตั้งเทศบาลที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2564
รศ.ตระกูล มีชัย มองว่า กกต.ควรกำหนดวันเลือกตั้ง โดยให้มีการเลือกตั้งเทศบาลและนายกอบต.พร้อมกัน ทำให้เป็นพลังของการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งยังไม่มีการเผยแพร่ข่าวให้ประชาชนสนใจ และมีข้อสังเกตว่าระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนบางกลุ่มบางชุมชนอาจจะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งประชาชนมีการตื่นตัวในการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เกิดการขับเคลื่อนและต่อสู้กันเองในระดับท้องถิ่น มากกว่าปัจจุบัน และมองว่า กกต.ควรมีบทบาทในการรณรงค์ให้ประชาชนสนใจเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ เพื่อให้ผู้สมัครแลกเปลี่ยนนโยบาย และดีเบตกันเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และมีทางเลือกมากขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปรากฏการณ์ท้องถิ่นแบบคลัชเตอร์ หมายถึง การรวมตัวกันของหน่วยงานท้องถิ่น หลายๆหน่วยงานในพื้นที่รวมตัวกัน สร้างความร่วมมือระหว่างเทศบาลและท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสนใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยฝากว่า ถ้าประชาชนไม่ไปเลือกตั้ง ท่านจะย่ำอยู่กับที่แบบนี้และอยู่กับการเมืองแบบเดิมๆ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านไปเลือกตั้งเทศบาล และอบต. เพื่อทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ มองว่า การเลือกตั้งเทศบาลที่จะเกิดขึ้นบรรยากาศน่าจะเหมือนกับการเลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมา เนื่องจากการเตรียมตัวของผู้สมัครมีเวลาจำกัด และมองว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งท้องถิ่นจะได้ผู้รับการเลือกตั้งที่น่าสนใจ มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ ชุมชน ยังไม่เห็นการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบาย ป้ายหาเสียงของผู้สมัคร หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งควรจัดพื้นที่ดีเบตการเลือกตั้งเพื่อกระตุ้นความสนใจของประชาชน กกต.ควรเร่งประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้งท้องถิ่น จัดกิจกรรมเปิดเวทีเสวนา ในแบบออนไลน์ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในส่วนของผู้สมัครเองก็ควรมีกิจกรรมแนะนำตัว นโยบาย ทางสื่อออนไลน์ให้ประชาชนสนใจ รู้จักมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นควรเป็นการเมืองแบบประนีประนอม และมองว่า ภาพรวมการเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีศักยภาพมาก และฝากทิ้งท้ายว่า ประชาชนต้องไปเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องไปเลือกคนที่มาดูแลบ้านเรา พื้นที่ชุมชนของเรา และสวัสดิการต่างๆ มองว่าอัตราการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศบาลน่าจะมากกว่าการเลือกตั้ง นายกอบจ.
ท่านสามารถติดตามรับชม การเสวนาออนไลน์ Local Talk Series EP6 (SS2) : Time to Vote ถึงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อไป ประเด็น “จับกระแสเลือกตั้งเทศบาลทั่วไทย” ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. พบกับวิทยากร รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง (วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่) รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว (คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) และดำเนินรายการโดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ (ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า)