ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด


          เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต สำหรับนายก อบจ. โดยมีเป้าหมายให้เป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดัน “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ให้เข้าใจการบริหารงานเชิงรุก และมุ่งพัฒนาจังหวัดในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมรังสรรค์การทำงานที่ดี ต่อยอดการเป็นเครือข่ายหลักในการพัฒนาประเทศ ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

         ในวันที่สอง เริ่มต้นด้วยการบรรยาย หัวข้อ “กฎหมายและอำนาจหน้าที่สำคัญในฐานะนักบริหารองค์กรมืออาชีพ” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (ศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ความว่า การกระทำของนายก อบจ. ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองจะเกี่ยวข้องกับการกระทำทางปกครองในหลายกรณี และมักจะถูกควบคุมในการใช้อำนาจและการดำเนินการทั้งก่อนและหลังการรับตำแหน่งนายก อบจ. ซึ่งนายก อบจ. จำเป็นจะต้องเข้าใจกฎหมายปกครอง

สำหรับกฎหมายที่สำคัญสำหรับนักปกครองนั้น มี 3 ฉบับ คือ
1.พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการดำเนินงานของผู้มีอำนาจ
2.พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายที่มักใช้ควบคู่กับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 
3.พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
4.พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

        กล่าวโดยสรุป : กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ นายก อบจ. มีหลายฉบับ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของนายก อบจ. โดยตรง ซึ่งหลักการสำคัญของการใช้อำนาจจะต้องดูว่า -จะใช้กฎหมายมีอำนาจให้นายก อบจ. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ให้ตีความเบื้องต้นไว้ก่อนว่ากฎหมายไม่อนุญาต 

     - ถ้าจะใช้อำนาจ ก็ต้องออกระเบียบขึ้นมารองรับการใช้อำนาจนั้น
     - หากมีอำนาจแล้วและกฎหมายกหนดไว้ก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายให้อำนาจนายก อบจ.สามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด
และต่อด้วยการบรรยาย หัวข้อ “ภูมิทัศน์จังหวัดกับเครือข่ายและการเชื่อมโยงประเทศสู่โลก อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ระบบการขนส่งของไทยพัฒนาไปมากและมีการพัฒนาระบบรางในหลายรูปแบบ แผนการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทย ได้วางแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งในเมืองใหญ่ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงการคมนาคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน 

       การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เดิมทีสถานที่ตั้งสถานีรถไฟกลางไม่สามารถพัฒนาพื้นที่หรือขยายพื้นที่ได้มากนัก จึงย้ายพื้นที่พัฒนามาอยู่ที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางรถไฟทุกระบบของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธินและเป็นจุดรวมแหล่งธุรกิจแห่งใหม่ของอาเซียน แนวโน้มการขนส่งทางรางในอนาคตจะเป็น new trend ในการเดินทางของคนรุ่นใหม่ โอกาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันพัฒนาระบบรางภายในเมือง และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟขนาดใหญ่ระดับประเทศได้ 

        ประโยชน์ของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่ คือ
-กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ขอบเขต
-ตอบสนองความต้องการของประชาชนในด้านการเดินทางคมนาคมได้
-การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองสามารถใช้เพื่อการควบคุมทิศทางการพัฒนาเมืองได้
-โอกาสของท้องถิ่นในการพัฒนาเมืองเพื่อสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

       ในช่วงท้าย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและฝากข้อคิดกับนายก อบจ.ว่า การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจให้สำเร็จจะต้องขับเคลื่อนกรวด 3 เม็ดไปพร้อมกัน คือ

1. องค์ความรู้ทางวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ โดยยกตัวอย่างานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าที่เข้าไปศึกษาวิจัยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น รางวัลพระปกเกล้า โครงการวิจัย best practice โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
2. ฝ่ายการเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
3. การกระจายอำนาจ

        สุดท้ายการส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งทางสถาบันพระปกเกล้าได้มีหลักสูตรให้ผู้บริหารเเละผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้ามาหาความรู้ได้อย่างหลากหลาย เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีองค์ความรู้เเล้วก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ต่อไป


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า