ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า รับรางวัลเลิศรัฐ 3 ปีซ้อน สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม


          7 กันยายน 2566 นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ ดร.ศรัณยุ หมั้นทรัพย์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง เป็นผู้แทนสถาบันพระปกเกล้ารับเลิศรางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ระดับดี ด้วยโครงการเสริมสร้างพลังพลเมือง : คนใกล้เหมือง จังหวัดแพร่ (Citizen Empowerment for Healthy Democracy : KPI-CE) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่แบไรต์ ณ บ้านอิม ต.ต้าผามอก อ.ลอง จ.แพร่ โดยสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง จากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดแพร่ 

          ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566 และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปรับเปลี่ยนภาครัฐ สู่การยกระดับการบริหารงานที่ทันสมัย พร้อมด้วย นายไมตรี อินทุสุต กรรมการพัฒนาระบบราชการ ร่วมมอบรางวัล 

          ซึ่งรางวัลเลิศรัฐ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ระบบการบริหารงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยศูนย์การเมืองภาคเมืองภาคพลเมืองจังหวัดแพร่ สถาบันพระปกเกล้า ได้ลงมือปฏิบัติการเสริมสร้างพลังพลเมือง “เหลียวหน้าแลหลังเพื่อพัฒนาชุมชนใกล้เหมืองอย่างสร้างสรรค์” เปิดเวทีถอดบทเรียนเพื่อกำหนดนโยบายแบบมีส่วนร่วมเหมืองแร่กับการพัฒนาที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดพื้นที่รับฟังและสร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร เป็นการหารือในเชิงสร้างสรรค์เพื่อลดอุณหภูมิการต่อต้านของชาวบ้านลง

          กระบวนการดำเนินการอยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริง มุ่งเน้นไปที่ข้อเสนอในการจัดการรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ การปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการของขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวบ้านอิม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จังหวัดแพร่ได้จัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่แบไรต์ฯ ขึ้น เป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่อย่างเป็นทางการในการผลักดันแนวทางการรับมือกับปัญหาเหมืองแร่ และนำไปสู่การจัดเวทีมอบข้อเสนอในการพัฒนาชุมชนใกล้เหมืองอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ที่มุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายอย่างแท้จริง


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า