หน้าแรก | ข่าวสาร
14 กันยายน 2566 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สัมมนาเผยแพร่ผลการวิจัย “การประท้วงสมัยใหม่ในประเทศไทยกับแผนที่ของความขัดแย้งทางการเมือง” ณ ห้องสุโขทัยธรรมราชา สถาบันพระปกเกล้า และออนไลน์ทางเพจสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
งานวิจัยดังกล่าว นำเสนอโดย ดร.ธตรฐ สนธิเณร หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การวิจัย “การประท้วงสมัยใหม่ในประเทศไทยกับแผนที่ของความขัดแย้งทางการเมือง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์การประท้วงสมัยใหม่ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นจากผู้ชุมนุมหลักที่เป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยเป็นกลุ่มเยาวชนผู้เคยมีส่วนร่วมในการประท้วงจากจังหวัดแต่ละภูมิภาค และผู้เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัย พบว่า ขบวนการประท้วงสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนที่เป็น นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนเป็นหลักนั้น มีความต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนฐานมวลชนในทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 โดยรัฐบาลในครั้งหลังนี้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวหรือสลายความขัดแย้งของกลุ่มการประท้วงขนาดใหญ่ลงไป เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มกปปส. จึงทำให้เหลือแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่ยังคงมีพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง นอกจากนั้น ยังพบว่า การขับเคลื่อนการประท้วงสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากตัวแบบการประท้วงที่ฮ่องกง และการทำแฟลชม็อบ การประท้วงที่ไม่มีแกนนำ
นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยยังศึกษาปรากฏการณ์การประท้วง เรื่องสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมาย ความรุนแรง วาทกรรมในการประท้วง การศึกษาพฤติกรรมฯ รวมทั้งศึกษาปรากฎการณ์ของการประท้วงในปัจเจกบุคคล และในบริบทของสังคม รูปแบบการประท้วงสมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากวิทยากรบรรยายและรับฟังความคิดเห็นต่อผลการวิจัย : การประท้วงสมัยใหม่ผ่านมุมมองสันติวิธี ความมั่นคง และการเคลื่อนไหวทางสังคม โดย พลตรี ดร.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย (รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน.) และ ดร. อภิญญา ดิสสะมาน (นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า)
ในช่วงท้ายเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมซักถามและแสดงความคิดเห็น
ท่านสามารถรับชมวิดิโองานสัมมนาย้อนหลังได้ทางลิงค์
https://fb.watch/n2a7pY6FLL/?mibextid=Nif5oz
**ติดตามข้อมูลข่าวสารและสาระความรู้ด้านประชาธิปไตย ทางเพจสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
https://www.facebook.com/democracyxinnovation