หน้าแรก | ข่าวสาร
21 กันยายน 2566 สถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักวิจัยและพัฒนา จัดกิจกรรมสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง ธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของประชาชน: นโยบายและการดำเนินการตามนโยบายน้ำในประเทศไทยและเวียดนาม (Climate Governance and People's Participation: Water Policy and Implementation in Thailand and Vietnam) ณ ห้องห้ากันยา สถาบันพระปกเกล้า
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวต้อนรับคณะผู้แทนจาก Ho Chi Minh National Academy of Politics (HCMA) ประเทศเวียดนาม และกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
จากนั้น เป็นการนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง ธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของประชาชน: นโยบาย และการดำเนินการตามนโยบายน้ำในประเทศไทยและเวียดนาม โดย ดร.นิตยา โพธิ์นอก (นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า) โดยมี Assoc. Prof. Luu Van Quang Director of the Institute of Politics Science และคณะจาก Ho Chi Minh National Academy of Politics (HCMA) ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
โครงการวิจัยธรรมาภิบาลสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของประชาชน: นโยบายและการดำเนินการตามนโยบายน้ำในประเทศไทยและเวียดนามClimate Governance and People’s Participation: Water Policy and Implementation in Thailand and Vietnam
เป็นการศึกษาวิจัย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังขาดความชัดเจนทางการศึกษาว่ามีความเชื่อมโยงกับการจัดการน้ำหรือไม่ ความเชื่อมโยงนโยบายของหน่วยงานรัฐไปสู่ท้องถิ่นเป็นอย่างไร และภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทอย่างไร ซึ่งงานวิจัยนี้ มุ่งหาคำตอบดังกล่าวด้วยวิธีการเชิงคุณภาพ โดยการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ 6 ท่าน และสนทนากลุ่มผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาชนในจังหวัดเชียงรายและอุบลราชธานี รวมทั้ง การสนทนากลุ่มนักวิชาการจากประเทศเวียดนาม 4 ท่าน
ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยริเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.2551 แต่ความเชื่อมโยงกับนโยบายน้ำมีแนวโน้มถูกกำหนดในการปรับปรุงแผนแม่บททรัพยากรน้ำ 20 ปี ในช่วง 5 ปีแรก (แผนแม่บทฯ มีระยะตั้งแต่ พ.ศ.2561-2580) โดยหน่วยงานส่วนกลางมีความเชื่อมโยงการจัดการน้ำไปสู่ระดับท้องถิ่นด้วยกลไกองค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนผู้ลงทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำได้เข้ามามีส่วนร่วมวางแผน จัดการ ติดตามเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในประเทศเวียดนามมีนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือตั้งแต่ พ.ศ.2554 แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองประเทศยังมีอุปสรรคเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลข่าวสาร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนบางกลุ่ม ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรปรับเปลี่ยนแนวทางในการรับมือ จัดทำข้อมูลข่าวสารที่เข้าใจง่าย เผยแพร่อย่างทั่วถึง และต่อเนื่อง เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น
ติดตามรายละเอียดสรุปผลการนำเสนอผลการวิจัยได้ทางเพจ