ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้าและเครือข่ายกระบวนการสันติภาพ จัดแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้


          เผยตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระยะเวลาร่วม 20 ปี จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 20,000 คน เสียงจากประชาชนเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฝากถึงรัฐบาลเร่งเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขให้ต่อเนื่อง รวมทั้งฝากความหวังไว้ที่ สส.ในฐานะตัวแทนประชาชนขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

          22 กันยายน 2566 ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ทีมนักวิชาการ เครือข่ายกระบวนการสันติภาพ เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY นำเสนอ 7 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลเชิงปริมาณจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,312 คน และข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ผู้นำความคิดเห็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ จำนวน 85 คน  

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิจัยอาวุโส สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะตัวแทนเครือข่าย Peace Survey ได้ให้ข้อมูลบทสรุปสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2547จนถึงปัจจุบันว่า ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 22,166 ครั้ง ความรุนแรงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 7,520 คน และผู้บาดเจ็บ 13,968 คน แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 หลังจากการพูดคุยสันติภาพในครั้งแรก และเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงตามลำดับจนถึงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโควิด-19

          อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนหลังปี พ.ศ. 2563 เริ่มมีความแปรปรวนมากขึ้นในบางช่วง ทำให้สถิติการเกิดเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2564-65 เริ่มขยับสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 แม้ว่าฝ่ายขบวนการ BRN จะประกาศยุติปฏิบัติการทางทหารชั่วคราวฝ่ายเดียว แต่การปฏิบัติการทางทหารของรัฐก็ยังดำเนินการตามปกติ ทำให้มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อม ตรวจค้นและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อผลให้มีปฏิบัติการการทหารตอบโต้กัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวการพบปะพูดคุยสันติสุขที่มาเลเซียได้หยุดชะงักมาตั้งแต่การพบปะกันที่กัวลาลัมเปอร์ในตอนต้นปี พ.ศ. 2563 แต่การพูดคุยถูกทำให้ยุติความต่อเนื่องลงเพราะการเกิดโรคระบาดและมาตรการปิดเมือง ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2563 และปี พ.ศ. 2564 จึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการว่างเว้นการพูดคุยสันติสุข หลังจากนั้นการพูดคุยสันติสุขจึงได้กลับมาอีกในปี พ.ศ. 2565 และต้นปี พ.ศ. 2566 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 การเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นประชาชนฯต่อกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ ได้ดำเนินการในเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2566

          ในรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนั้น ได้มีการนำเสนอ 7 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ข้อเสนอแนะที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการลดความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งการเร่งแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาชนกว่าร้อยละ 80 ในการสำรวจเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งความรุนแรงที่เป็นทางตรง เช่น การก่อเหตุรุนแรงที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน การปะทะด้วยกำลังอาวุธ การทำร้ายร่างกาย การวิสามัญฆาตกรรม และที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และการการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

          ข้อเสนอแนะอื่นที่เป็นทางออกสำหรับการสร้างสันติภาพชายแดนภาคใต้นั้น เครือข่าย Peace Survey ได้สังเคราะห์จากความคิดเห็นของประชาชน ประกอบด้วย การให้มีกลไกทางการเมืองและกลไกทางกฎหมายรองรับกระบวนการพูดคุยที่ครอบคลุมทุกฝ่าย การพัฒนาและปรับปรุงกลไกการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย การเพิ่มบทบาทของประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทุกฝ่าย การกระจายอำนาจการปกครองให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ และข้อเสนอแนะสุดท้าย คือ การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่โอกาสการสร้างสันติภาพเชิงบวกและยั่งยืน 

          ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.1 สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้ง มีความไว้วางใจต่อพรรคการเมือง/นักการเมืองระดับชาติ (สส.) ในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ ร้อยละ 28  

          สำหรับเครือข่ายวิชาการ Peace Survey นี้เป็นความร่วมมือของสถาบันวิชาการและองค์กรภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพันธกิจและบทบาทในการทำงานเพื่อสันติภาพและการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายภาคประชาสังคม และสถาบัน/องค์กรอื่น ๆ อีกจำนวน 25 องค์กร โดยได้ดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อศึกษาสภาพความเป็นอยู่ ความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย) ต่อปัญหาความไม่สงบ การสร้างสันติภาพและประเด็นอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งสาเหตุของปัญหาและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 

          กิจกรรมในครั้งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักการเมือง ประชาชน และสื่อมวลชน Walk In และ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ในกิจกรรมดังกล่าวอย่างคับคั่ง 

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามถ่ายทอดสดย้อนหลัง ได้ทาง
Facebook Fan page : สถาบันพระปกเกล้า
https://fb.watch/ncZj8qAU8D/?mibextid=9R9pXO


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า