หน้าแรก | ข่าวสาร
วันที่ 10 มีนาคม 2559 สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาวิชาการ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศ" ครั้งที่ 3 เรื่อง "ความปรองดอง" ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย 5 ท่าน ดำเนินรายการโดย พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า วิทยากรแต่ละท่านนำเสนอประเด็นว่าด้วยความปรองดองและร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ 6 ประการ 4 เงื่อนไข ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวศึกษาจากกรณีต่างประเทศ 10 ประเทศ พร้อมกล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งของเมืองไทยเกิดจากความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน คือ กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องเสียงส่วนมาก ส่วนอีกกลุ่มเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมควบคุ่กันไป พร้อมแสดงความเห็นว่าการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องของ "กระบวนการ" ไม่ใช่กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจะช่วยให้เกิดความปรองดองได้ในส่วนการวางรากฐานกฎ/กติกาและผู้ใช้อำนาจให้เกิดความสมดุลเท่านั้น แต่การสร้างความปรองดองแท้จริงจะเกิดจากศรัทธาของคนในสังคมว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร และมองว่าสิ่งที่สังคมต้องการที่สุดตอนนี้คือ "หลักนิติธรรม" ในเชิงปฏิบัติที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและจะนำมาซึ่งการปรองดอง นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายได้รับ "ความเป็นธรรม" เท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลมีความสำคัญในการเป็นผู้ประสานให้เกิดการเจรจาเชื่อมโยงกันระหว่างฝ่ายต่างๆ พร้อมกล่าวถึงประเด็นต่างๆที่เสนอให้แก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย และเห็นว่าส่วนหนึ่งของความขัดแย้งต่างๆ เกิดจากการที่คนไทยยังมีความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่ถูกต้องไม่เพียงพอ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึงการสร้างความปรองดองใน 4 ประเด็น คือ การสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกผิดและให้อภัย และการดูแลเยียวผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านเงินและจิตใจ พลโทบุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป อภิปรายใน 3 ประเด็น คือ ความปรองดองที่เกิดจากจิตสำนึกของคน รัฐธรรมนูญสร้างความปรองดองให้สังคมไทยได้อย่างไร และข้อเสนอปรองดองตามแนวทางประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ยังได้เล่าถึงการดำเนินการของ ศปป.ในปี 2558 ซึ่งได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเรื่องความปรองดองในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปพูดคุยกับแกนนำฝ่ายต่างๆ แกนนำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน