หน้าแรก | ข่าวสาร
วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันมหิตลาธิเบศร จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดหลักสูตรและบรรยายพิเศษหัวข้อ "ความคาดหวังและคุณลักษณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า (KPI-CDG)" กล่าวรายงานเปิดการศึกษา โดย นาวาอากาศโท นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วยรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ร่วมพิธีเปิดการอบรม จากนั้น พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และผู้อำนวยการสถาบันมหิตลาธิเบศร แนะนำประวัติความเป็นมาของหลักสูตรฯ และกิจกรรมของมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ชี้แจงการประเมินคุณลักษณะความเป็นนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า พร้อมแนะนำทีมและเจ้าหน้าที่หลักสูตร จากนั้น อธิบายการทำแบบทดสอบ KPI-CDG โดย นางธนิษฐา สุขะวัฒนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ สำหรับในช่วงบ่าย นางกาญจนา ศรีปัดถา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวต้อนรับพร้อมนำนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลักสูตรดังกล่าว สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันมหิตลาธิเบศร ตั้งใจและมุ่งหวังจะพัฒนาความรู้ความสามารถ เสริมสร้างทักษะ และประสบการณ์ต่าง บูรณาการองค์ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญแก่ผู้บริหารสายแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการสร้างความเจริญพัฒนาของประเทศไทยต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกยุคใหม่ (Mega Trends) ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางและรอบด้าน เพื่อเสริมสร้างเจตคติ (Attitude) ที่ดีในการตระหนักรู้ความสำคัญของการเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบต่อประโยชน์ส่วนรวม และพฤติกรรมที่สะท้อนถึงคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมภิบาลที่เป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อเสริมสร้างทักษะ (Skill) ในการคิด วิเคราะห์และคัดสรรเครื่องมือเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคม รวมถึงสามารถตัดสินใจในการกำหนดทิศทาง และวิธีดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติสู่การพัฒนาที่ยังยืนของประเทศไทยต่อไป
ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย แพทย์และวิชาชีพสายสาธารณสุขอื่น ๆ รวมทั้งบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน จัดการเรียนการสอนทุกวันศุกร์และวันเสาร์ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567