หน้าแรก | ข่าวสาร
วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 23 (ปรม.รุ่นที่ 23) โดยได้รับเกียรติจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการศึกษา ให้โอวาส และปาฐกถา เรื่อง “พหุวัฒนธรรม : ความสัมพันธ์ต่อการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน” อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต้อนรับและบรรยาย เรื่อง ความคาดหวังและคุณลักษณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า (KPI-CDG) กล่าวรายงาน โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
จากนั้น ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการหลักสูตร กล่าวต้อนรับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมพร้อมแนะนำหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน และชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการของมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม (มูลนิธิ สปส.) พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายกู้เกียรติ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ นางสาวสุพรรณี งามวุฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและนักศึกษา
นางธนิษฐา สุขะวัฒนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ แนะนำสำนักบริการวิชาการ และให้นักศึกษาทำแบบประเมินคุณลักษณะความเป็นนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า KPI-CDG
นอกจากนี้ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยังกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 132 คน ซึ่งล้วนเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญและมีศักยภาพ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะการบริหารจัดการ และกฎหมายมหาชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการองค์การแนวใหม่ โดยเฉพาะด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อเสริมสร้างทัศนคติและมุมมอง เกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สอดรับกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเสริมสร้างเครือข่าย ในการปฏิรูปกิจการบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาแบบยั่งยืนโดยมุ่งหวังให้นักศึกษาได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ เปิดโอกาสในการพัฒนาแนวความคิดของตนเองและกลุ่ม และสามารถดึงประเด็นชี้นำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานฯ เพื่อดำเนินโครงงานที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและชุมชนในเชิงนโยบายหรือการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเชิงประจักษ์ต่อไป
หลักสูตรดังกล่าวใช้เวลาในการศึกษาอบรมทั้งสิ้น 469 ชั่วโมง ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567