ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

หลักสูตร ปปร. รุ่นที่ 27 ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดเชียงราย


          ระหว่างที่ 17-19 มีนาคม 2567 นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดเชียงราย  นำโดย นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า คณาจารย์ประจำหลักสูตร รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ของสถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย นางณัชชาภัทร อมรกุล รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า  โดยวันที่ 17 มีนาคม 2567 ศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงรายไหว้สักการะ "อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช" ปูชนียบุคคลที่สำคัญของชาวเชียงราย 

          ช่วงบ่ายเดินทางไปศึกษาดูงานและรับฟังบรรยาย ที่มาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเชียงแสน ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18-21  ณ “เวียงปรึกษา (เวียงเปิกสา) ต้นแบบประชาธิปไตย” ในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาในยุคแรก ๆ และเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อเวียงหิรัญนครเงินยาง แม้ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่ง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดสองพี่น้อง วัดพระธาตุเขียว และเยี่ยมชม “วัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน" ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เก่าแก่ ตามพงศาวดารโยนก ได้กล่าวว่า ขุนผาพิง หรือขุนพิง (พระองค์พิง) ผู้ครองนครโยนก องค์ที่ 23 ช่วงปี พ.ศ. 494 - 512 เป็นผู้สร้างเจดีย์ไว้บนหินก้อนใหญ่ที่เชิงเขาดอยจันทร์ ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงพระธาตุผาเงาในวัดนี้ 

          วันที่ 18 มีนาคม 2567 คณะเดินทางไปทัศนศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรม ที่วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ หรือที่เรียกสั้นๆว่าวัดแสงแก้วโพธิญาณ อยู่ในอำเภอแม่สรวย เชียงราย เป็นวัดที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมอันงดงาม ผสานงานศิลป์ ทั้งลานนา ไทยใหญ่และพม่า ซึ่งนอกจากจะมีความวิจิตรของโบสถ์ พระประธานที่ทรงเครื่องแบบล้านนาปิดทองคำทั้งองค์ ยังมีสิ่งก่อสร้างรูปปั้นต่างๆมากมายที่แปลกตาสวยงามและมีปริศนาธรรมซ่อนอยู่ ด้านหน้า องค์พระศรีอริยเมตไตรฯ บ่งบอกได้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวพุทธในดินแดนล้านนา ที่แฝงไปด้วยความหมายเชิงธรรมและหลักพุทธธรรมไว้ในทุกองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม และเข้าชมนิทรรศการ “Thailand Biennale,Chiang Rai มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ” เป็นพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ก่อตั้งโดยศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพื่อเป็นหมุดหมายให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะ เชื่อมผู้คน ศิลปิน และศิลปะเข้าด้วยกัน หอศิลป์แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale ครั้งที่ 3  กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 ภายใต้ชื่องาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ด้วยแนวคิด "เปิดโลก" (The open World) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน

          วันที่ 19 มีนาคม 2567 คณะเดินทางไปเยี่ยมชม และทำกิจกรรม CSR ณ วัดห้วยปลากั้ง โดย ได้สร้างโรงพยาบาล รักษาผู้ยากไร้ ให้การรักษาฟรี อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน และคนชายขอบที่ขาดโอกาส

          การศึกษาดูงานตลอดทั้ง 3 วัน มุ่งเน้นการศึกษาดูงานในพื้นที่จริง เรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เก่าแก่ในบริเวณที่มีโบราณสถานมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ร่วมค้นหาตัวตนและที่มาของความเป็นไทย สร้างความประทับใจให้กับนักศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า