ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

การสัมมนา "ต้นทุนทางวัฒนธรรม: เราอยู่จุดไหนบนเส้นทางสู่สากล"


วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. ณ Jim Thompson Art Center สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมต้นทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมสู่ความเป็นสากล ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฏร ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่อง "ต้นทุนทางวัฒนธรรม : เราอยู่จุดไหนบนเส้นทางสู่สากล" เพื่อเป็นเวทีการสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และผู้มีประสบการณ์ในแต่ละสาขาศิลปะวัฒนธรรม ในการร่วมกันพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมไทยในฐานะที่เป็น “soft power” ของคนไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นสากล การสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ประเด็นแรก การศึกษาและประเมินนโยบายต้นทุนทางวัฒนธรรมระดับสากล อาทิ ประเทศฝรั่งเศสและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในเชิงการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนประเทศในเวทีนานาชาติ
  • ประเด็นที่สอง การวิเคราะห์ต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยเอง เพื่อหาวิธีการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นสากลอย่างยั่งยืน
  • ประเด็นสุดท้าย การรวบรวมข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทย อาหารไทย เทศกาล วรรณกรรม และภาพยนตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนเอกลักษณ์ของไทยสู่สากล

ในช่วงเช้าของการจัดงานสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีชื่อเสียง อันได้แก่

  1. คุณวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ ผ่านปาฐกถาพิเศษที่สะท้อนถึงบทบาทของศิลปะในการขับเคลื่อนสังคมสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์
  2. คุณ Sylvain Bano ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการพัฒนาศิลปะในระดับนานาชาติของประเทศฝรั่งเศส
  3. ผศ. ดร. กมล บุษบรรณ์ ร่วมนำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้ ผ่านปรากฏการณ์ K-Pop และ K-Drama ที่สามารถผลักดันวัฒนธรรมเกาหลีให้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลก 

ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการ Jim Thompson Art Center ที่ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ “การเมืองของศิลปะและตำแหน่งแห่งที่ของศิลปะไทยในเวทีโลก” ซึ่งได้สะท้อนว่าแม้ประเทศไทยจะมีทุนวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง แต่ยังขาดการสนับสนุนและพัฒนาที่เหมาะสม ศิลปะไทยยังคงอยู่ภายใต้แบบแผนดั้งเดิม และยังตามหลังประเทศอื่น ๆ ในด้านนวัตกรรมและการแสดงออก ซึ่งจุดนี้ อาจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งต่อการนำ soft power ของคนไทยไปสู่สากล

ช่วงสุดท้ายของการจัดงานสัมมนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงที่น่าสนใจ คือ การเสวนาของบุคคลสำคัญในวงการสร้างสรรค์ของไทย ในหัวข้อ “ประเทศไทยอยู่ตรงไหน: เสื้อผ้า อาหาร เทศกาล หนังสือและภาพยนตร์” โดยในการเสวนาได้รับเกียรติจากคุณประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การสื่อสารและศิลปิน เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีวิทยากรประกอบด้วย

  1. คุณสุชาติ อินทร์พรหม ผู้จัดการวงหมอลำไอดอลที่ได้นำพาเสน่ห์ของหมอลำไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง ซึ่งได้สะท้อนหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ปรับแก้กฎ ระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะพาหมอลำของคนไทยไปสู่เวทีการแสดงระดับโลก
  2. คุณนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับที่สร้างความฮือฮาด้วยผลงานภาพยนตร์ Doi Boy ผู้สะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีอุปสรรคและความท้าทายภายในประเทศที่วงการภาพยนตร์ต้องก้าวข้ามให้ได้ เพื่อปลดล๊อกภาพยนตร์ไทยไปสู่สายตาผู้ชมสากล
  3. คุณโตมร ศุขปรีชา นักเขียนและนักแปลผู้มีวิสัยทัศน์ในเชิงการสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ผู้สะท้อนให้ว่าหนังสือ/วรรณกรรมไทยจะมีอนาคตได้นั้น คนไทยจะต้องเป็นคนที่รักการอ่านเสียก่อน และ สังคมไทยต้องให้คุณค่าและราคาสำหรับการเขียน การแปล และกระบวนการผลิตหนังสือ/วรรณกรรม รวมทั้งต้องสร้างกลไกสนับสนุนให้นักเขียนและผู้สร้างสรรค์ไทยได้มีโอกาสในเวทีระดับนานาชาติ
  4. คุณชวนล ไคสิริ แบรนด์ดีไซน์เนอร์ชื่อดังแห่ง POEM ที่นำเสนอแฟชั่นไทยในระดับโลก โดยมองว่าการออกแบบไม่ใช่ปัญหาของการก้าวสู่สากลสำหรับวงการแฟชั่น แต่อยู่ที่คุณภาพของผ้าไทยที่อาจจะทำให้ไม่ไปถึงฝัน พร้อมกับให้ข้อเสนอว่าจะต้องมีการพัฒนาทักษะและกลวิธีให้แก่ชุมชน กลุ่ม เพื่อทำให้วงการผ้าและสากลยอมรับในมาตรฐานผ้าไทย
  5. คุณปิยะ ดั่นคุ้ม เจ้าของร้านอาหารสุขภาพแบรนด์ Salad Factory  ผู้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมด้วยพืช พันธุ์นานาชนิด แต่ในกระบวนการผลิตอาหารในระดับต้นน้ำที่ผ่านมาใช้รูปแบบ “การผลิตนำการตลาด” ดังนั้น ยังได้มีการให้เปลี่ยนการผลิตในระดับต้นน้ำเป็นแบบ “การตลาดนำการผลิต” แทนการผลิตในรูปแบบเดิม

ท่ามกลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากทั้งไทยและนานาชาติ การสัมมนานี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมทุกคนที่จะร่วมกันพัฒนาและรักษาต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทย เพื่อให้สามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการสำรวจอนาคตของศิลปะและวัฒนธรรมไทย พร้อมกับเสนอแนวทางในการพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถก้าวสู่ระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเสวนาได้สรุปว่าก่อนที่เราจะก้าวสู่ความเป็นสากล

รับฟังงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/share/v/wpPngsmEcc1DsJD9/

 


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า