หน้าแรก | ข่าวสาร
วันที่ 11 กันยายน 2561 สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา ร่วมกับ คณะกรรมการวิชาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดจัดการสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนข้อมูลที่สำคัญให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันจะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า สมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้าผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงงานรัฐสภา ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการด้านการศึกษา จำนวน 250 คน
ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิชาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน จากนั้น รับฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กรอบแนวคิดการปฏิรูปการศึกษา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา การอภิปราย มาตรการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา คนที่สอง และการอภิปราย มาตรการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา โดย นายตวง อันทะไชย กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น ณ ห้องเทวกรรมรังรักษ์ ชั้น 2 สโมสรทหารบก (ถนนวิภาวดีรังสิต)
สาระสำคัญ จากการปาฐกถา ศาสตราจารย์กิตติคุณ น.พ.จรัส สุวรรณเวลา (ประธานกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศ สถานการณ์ปัจจุบันการศึกษาไทยอยู่ในภาวะวิกฤตคุณภาพทางการศึกษาต่ำไม่ได้มาตรฐาน มีความเหลื่อมล้ำสูงและกับดักความยากจน ยิ่งกว่านั้นที่สำคัญคือ ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ผลการสอบO-NET และ PISA ของเด็กไทยมีคะแนนต่ำมาก และผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทยยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำให้เกิดบัณฑิตว่างงานในประเทศไทย ราว 449,000 คน (สถิติในเดือนมกราคม 2560) ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการสร้างบัณฑิตสาขาวิชาไม่ตรงกับงาน ไม่มีสมรรถนะ ทักษะไม่ตรงกับงาน
คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ "การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา" เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพต่ำ และการด้อยประสิทธิภาพของระบบการศึกษา ต้องกระจายอำนาจการบริหาร 4 ด้าน คือ การบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียน พร้อมทั้งมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนที่ด้อยโอกาส ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 39 ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง