ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สัมมนาวิชาการพระปกเกล้าศึกษา เรื่อง 120 ปี ถนนงามนามราชดำเนิน


เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการพระปกเกล้าศึกษา เรื่อง "120 ปี ถนนงามนามราชดำเนิน" วิทยากรโดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระปกเกล้าศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องสัมมนาชั้น 2 อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของถนนราชดำเนินจนถึงปีนี้มีอายุถึง 120 ปี ที่มีเรื่องราวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่ง ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง ได้ฉายให้เห็นภาพความทรงจำที่ชัดขึ้นผ่านภาพถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ร้อยเรียงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 ในยุคนั้นการสัญจรทางถนนไม่ใช้ทางหลัก การตัดถนนจึงเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตการอยู่อาศัย เศรษฐกิจ จนถึงวัฒนธรรม จากการเสด็จประพาสต่างประเทศของรัชกาลที่ 5 ทำให้เป็นที่มาของถนนหลายสาย อย่างถนนอัษฎางค์ ได้เกิดขึ้นจากการเสด็จพระพาสปัตตาเวีย ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2440 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระพาสเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ซึ่งมีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม จึงได้เชิญวิศวกรและสถาปนิกจากเมืองตูรินเข้ามาออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมสยามดังที่ปรากฏในหลายสถานที่ รวมถึงถนนราชดำเนินกำเนิดขึ้นเพื่อเชื่อมพระบรมมหาราชวังและพระราชวังดุสิต ในปี 2442 เริ่มก่อสร้างถนนราชดำเนินนอก ปี 2444 ก่อสร้างถนนราชดำเนินกลาง และอีก 2ปีถัดมาได้ก่อสร้างถนนราชดำเนินในแล้วเสร็จในปี 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลที่ต้องการให้ถนนราชดำเนินเป็นถนนแห่งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากการสร้างถนนที่มีความกว้าง สวยงามด้วยการปลูกต้นไม้โดยเลือกต้นมะขามและต้นมะฮอกกานี ที่มีลักษณะตัดแต่งง่าย และเว้นที่บริเวณข้างถนนให้กว้างใหญ่ สำหรับปลูกอาคารเพื่อการพาณิชย์ ดังพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่พระราชทานเจ้าพระยาเทเวศร์วงษวิวัฒน์ ความว่า (ถนนราชดำเนินนี้ จะ) “...เปนถนนแฟตชันเนเบอล สำหรับขี่รถวนไปวนมา ที่ ๒ ข้างนั้นต่อไปจะต้องเปนวังเปนออฟฟิซใหญ่ ๆ ฤาบ้านผู้มั่งมี ที่จะตั้งกันหยุม ๆ หยิม ๆ ไม่ได้...” ปรากฏชัดคือห้างยอนแซมสัน ซึ่งเป็นห้างจำหน่ายเสื้อผ้า รองเท้า อันมีชื่อเสียงของกรุงลอนดอน ที่ตั้งอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้า เป็นจุดตัดระหว่างถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอก ซึ่งต่อมาเป็นห้างสุธาดิลก กรมโยธาเทศบาลได้เข้ามาเช่าเป็นที่ทำการกรมต่อเมื่อปี 2476 เรื่อยมาจนปี 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับโอนจากกรมโยธาธิการให้ดำเนินการเป็น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าจนถึงปัจจุบันนี้ ห้างแบดแมน และห้างไทยนิยม ซึ่งปัจจุบันคือเทเวศร์ประกันภัย เมื่อวันเวลาผ่านไปถนนราชดำเนินยังเป็นบทเรียนในการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชน เรื่องเล่าจากความทรงจำของศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทราศุ ในตอนหนึ่งว่า ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ มีทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง การเฉลิมฉลอง การถวายความจงรักภักดีผ่านพระราชพิธี เป็นฉากหลังที่มีความสำคัญต่อชาติ มีความงดงามในสังคม ถนนราชดำเนินยังคงเป็นถนนที่มีชีวิตมากว่า 120 ปี และยังคงสร้างเรื่องราวเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของชาติสืบเนืองตลอดไป


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า