ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนายุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก


        เมื่อวันที่ 3  ธันวาคม 2563 สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สโมสรซอนต้ากรุงเทพ และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดสัมมนา “ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก” (Ending Violence against Women and Children Forum) ณ ภูวนาทประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

       กิจกรรมเริ่มต้นด้วย พิธีเปิดการสัมมนา โดย เปิดการสัมมนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล (รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) การสัมมนา “การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” โดยวิทยากรได้แก่ คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง (ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม) คุณเรืองรวี พิชัยกุล (ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา) คุณจะเด็ด เชาวน์วิไล (ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ (อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด) ดร.พีรดา ภูมิสวัสดิ์ (นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) ดำเนินรายการโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล (ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า)

       การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเกี่ยวพันโดยตรงกับการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม (social cohesion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมคุณภาพสังคม (social quality) การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นวาระสำคัญที่มีการรณรงค์อย่างกว้างขวาง โดยมีริบบิ้นขาวเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกใช้ในการรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ ในปี ค.ศ. 1999 องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี  สังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นปัญหา ตลอดจนการระดมความเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เป็นรูปธรรมต่อไป

     งานสัมมนาดังกล่าวจัดทั้งในรูปแบบการสัมมนาในห้องประชุมและออนไลน์ (Facebook live สถาบันพระปกเกล้า) ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านการรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรี เด็กและเยาวชน รวมทั้งสื่อมวลชน


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า