ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เวทีแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 5


       เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องบรรยาย 103 ชั้น 1 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จัดจัดเวทีแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 5 และการเสวนาหัวข้อ “ เสียงของประชาชนกับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ... ณ วินาทีนี้”ขึ้น

      ผลสำรวจสันติภาพชายแดนใต้ (Peace Survey) เผยประชาชนชายแดนใต้มีความหวังและอยากเห็นความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติภาพ แม้จะมองว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดลง แต่ก็พร้อมหนุนกระบวนการสันติภาพ :เครือข่ายวิชาการ Peace Survey 24 องค์กร ได้สำรวจความเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5 จำนวน 1,637 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่รู้สึกมีความหวังและพร้อมหนุนการพูดคุยสันติภาพ แต่ยังมองว่าการพูดคุยมีความก้าวหน้าน้อยและเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังเหมือนเดิมแม้ว่าสถิติการเกิดเหตุรุนแรงจะมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ส่งผลให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งประชาชนยังกังวลว่าการพูดคุยจะไม่สามารถยุติความรุนแรงได้จริง และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งไม่ทำตามที่ตกลงกัน พร้อมเสนอมาตรการเร่งด่วนที่ควรทำคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน หลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่อน และป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเครือข่ายวิชาการ Peace Survey ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ 24 องค์กรในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงหลักคิดและวัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ว่า “ประสบการณ์จากการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “เสียงของประชาชน” จากทุกกลุ่มในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่ากระบวนการสันติภาพจะดำเนินไปในทิศทางใด มีความต่อเนื่องหรือไม่ และข้อตกลงที่จะได้จะมีความยั่งยืนหรือไม่ หลายครั้งที่เราพบว่า ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างย้ำว่า “จะฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญ” ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการฟังเสียงของประชาชนที่น่าเชื่อถือ สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชน และใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานการใช้ข้อมูลความรู้เป็นฐานในการแก้ไขปัญหา” จากภูมิหลังเหตุการณ์ความไม่สงบและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่มีผลกระทบต่อประชาชนและต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างชัดเจน แต่ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้กลับพบว่า ผู้คนส่วนมากในพื้นที่ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ โดยพบว่า มีผู้ตอบถึงร้อยละ 72.8 รู้สึกว่าสถานการณ์เหมือนเดิมและแย่ลง นอกจากนี้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับลดลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยได้คะแนนเฉลี่ย 4.21 จากคะแนนเต็ม 10 นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า แม้ความขัดแย้งจะยืดเยื้อมากว่า 17 ปี แต่ประชาชนยังเชื่อมั่นว่า การพูดคุย/เจรจาจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยผู้ตอบร้อยละ 55.1 สนับสนุนแนวทางนี้ แต่ก็ยังมีผู้ตอบกว่าร้อยละ 21 ที่ยังไม่แน่ใจ เนื่องจากอาจมาจากการมองว่าการพูดคุยในช่วงปีที่ผ่านมายังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร (ร้อยละ 40.5) ซึ่งสะท้อนว่าการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขยังจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า เหตุใดพวกเขาควรสนับสนุนแนวทางนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากถึงร้อยละ 38.7 ยังมีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า การสำรวจได้สอบถามถึงข้อกังวลต่อการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข พบว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.4 กังวลว่าการพูดคุยจะไม่สามารถยุติความรุนแรงได้จริง รองลงมาคือ ร้อยละ 57.1 กังวลว่า การพูดคุยอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นกว่าเดิม และร้อยละ 53.8 กังวลว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการพูดคุยจะไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งข้อกังวลเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ท้าทายการทำงานของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สำหรับข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็พบว่า ผู้ตอบร้อยละ 37.1 เห็นว่า จำเป็นมากที่จะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในพื้นที่ โดยในจำนวนนี้ รูปแบบที่มีผู้ตอบต้องการมากที่สุดคือ อยากเห็นการปกครองที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นโดยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ โดยที่ยังอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือเขตปกครองพิเศษ (ร้อยละ 23.3 ของผู้ตอบ) นอกจากนี้ มาตรการที่ควรเร่งดำเนินการ 3 อันดับแรกเพื่อแก้ปัญหาคือ ควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน (ร้อยละ 80) การหลีกเลี่ยงการก่อเหตุรุนแรงกับเป้าหมายอ่านซึ่งหมายถึงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ (ร้อยละ 75.9) และการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ร้อยละ 71.6) สำหรับสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ประชาชนจำนวนมากเห็นว่า ควรต้องสร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพ และแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ (ร้อยละ 73.9) การแก้ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 73.4) และการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ (ร้อยละ 38.5)

      ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นรากของปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนมากที่สุดและต้องอาศัยความมุ่งมั่นจริงจังจากรัฐบาลโดยอาศัยพื้นที่กลางของความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นสำคัญ การสำรวจสันติภาพครั้งที่ 5 นี้ ได้ดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนอายุระหว่าง 18-70 ปี ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 1,637 คน โดยใช้หลักการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบและกระบวนการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องตามหลักวิชา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มตัวอย่างได้ครอบคลุมมากที่สุดและเป็นการประกันว่าทุกคน ทุกหน่วยพื้นที่ของประชากรที่ศึกษาจะมีโอกาสถูกสุ่มเป็นตัวแทนอย่างเท่าเทียมกัน ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 5 ได้ที่ QR Cord ที่แนบใต้ภาพกิจกรรมนี้


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า