หน้าแรก | คลังความรู้
ชื่อเรื่อง การติดตามผลสัมฤทธิ์หลักสูตรรากฐานประชาธิปไตยเพื่อพลเมืองไทยที่พึงปรารถนา
โดย ศรัณยุ หมั้นทรัพย์
ปีงบประมาณ 2558-2559
สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของการนำหลักสูตรรากฐานประชาธิปไตยเพื่อพลเมืองไทยที่พึงปรารถนาไปใช้ในโรงเรียน หรือสถานศึกษาของครูและวิทยากรผู้ผ่านการอบรมในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดสุโขทัย โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP model) เป็นกรอบวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียนรวมทั้งสิ้น 141 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามแบบสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( x ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านบริบท คือ นโยบายของรัฐบาล วิสัยทัศน์ของโรงเรียน ความต้องการโรงเรียนและชุมชน ความเหมาะกับสภาพปัจจุบัน และวัตถุประสงค์หลักสูตรที่ชัดเจนนั้น เอื้อต่อการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน/สถานศึกษาในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยการนำเข้า คือ ผู้บริหารให้การสนับสนุน ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากรในการดำเนินการหลักสูตร ครูมีองค์ความรู้ ครูมีศักยภาพเอื้อต่อการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน/สถานศึกษาในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ คือ การดำเนินการสอนตามแนวทางของหลักสูตรอย่างครบถ้วน การบูรณาการกับหลักสูตรของโรงเรียน การสอนด้วยเทคนิคการสอนอื่น การมีส่วนร่วมจากผู้บริหาร ครูและบุคลากรอื่น และการติดตามประเมินการผลหลักสูตรมีความเหมาะสมกับการนำหลักสูตรไปใช้ในระดับปานกลาง
4. ด้านผลลัพธ์ คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ การมีทักษะ และมีคุณลักษณะของนักเรียนตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรอยู่ในระดับปานกลาง
5. ข้อเสนอต่อการนำหลักสูตรไปใช้ คือ การสนับสนุนอย่างเข้มข้นจากผู้บริหาร กำหนดเป็นนโยบายของโรงเรียนในสาระหน้าที่พลเมืองเพื่อใช้สอนอย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษาและทุกภาคการศึกษา หากออกแบบเป็นกิจกรรมต้องคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและสามารถจัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษาและทุกภาคการศึกษา