ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

Together Matter เพื่อนรัก...พนักงานบริการ (ไร้สังกัด)


           นักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 10 (ปนป.10) กลุ่มนกยูง ทำโครงการเนื่องจากเห็นปัญหากลุ่มผู้ให้  บริการทางเพศ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการและการได้รับความคุ้มครองทางสังคมจากภาครัฐ เพราะ “ผู้ให้บริการทางเพศไร้สังกัด” ถูดจัดให้เป็นแรงงานนอกกฎหมาย และมักถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ผลกระทบการปิดธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม จากกรณีสถานประกอบการถูกสั่งปิด แม้แต่เงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกัน 

           ความสำเร็จอีกก้าวเดินทางมาถึงวันนี้ 11 มีนาคม 2564 เมื่อนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่น 10 (กลุ่มนกยูง) สถาบันพระปกเกล้า  เข้ายื่นหนังสือผ่านประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณี ให้มีความทันสมัย ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา

           โดยมีนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ กมธ. รับยื่นหนังสือ จาก นายวศิน สิริเกียรติกุล ผู้แทนนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย (ปนป.) รุ่นที่ 10 (กลุ่มนกยูง) เรื่อง ขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ให้มีความทันสมัย ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อาชีพพนักงานบริการไร้สังกัด เพราะเป็นอาชีพที่ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับในการดูแลเรื่องสิทธิและสวัสดิการ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพ รายได้ และการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ

          นอกจากนี้ ผลกระทบจากการปิดสถานบริการในหลายพื้นที่อันเนื่องมาจากการใช้มาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอาชีพพนักงานบริการไร้สังกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับประเทศไทยมีความจำเป็นต้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้ ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women – CEDAW) ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 40 ว่าด้วยเสรีภาพในการประกอบอาชีพ จึงมีความจำเป็นต้องมีการทบทวนแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยทางกลุ่มได้ดำเนินการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจัดทำโครงงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อกลุ่มพนักงานบริการไร้สังกัดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ จึงขอให้คณะ กมธ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า