ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

วันแรก ของการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด


           เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต สำหรับนายก อบจ. โดยมีเป้าหมายให้เป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดัน “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ให้เข้าใจการบริหารงานเชิงรุก และมุ่งพัฒนาจังหวัดในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมรังสรรค์การทำงานที่ดี ต่อยอดการเป็นเครือข่ายหลักในการพัฒนาประเทศ ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า

          กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2564 ซึ่งในวันแรกเป็นการเปิดงานสัมมนา และบรรยาย หัวข้อ “เมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน เป้าหมาย ความหวังและความท้าท้าย” โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า)  โดยความตอนหนึ่งว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารและพัฒนางานของจังหวัด เพื่อนำไปสู่ทิศทางที่ตอบสนองต่อปัญหาและความท้าทายในระดับพื้นที่ ตลอดจนตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับประเทศ และด้วยพลวัตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจำเป็นอย่างยิ่งที่ นายกอบจ.ต้องเข้าใจถึงภาพรวมในการบริหารและบริบทแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการบริหารในสถานการณ์วิกฤต ปัจจุบันเป็น รัฐสมัยใหม่ (modern state) ที่ควรทำเรื่องใหญ่ๆ ไม่ควรมาทำเรื่องเล็กๆ และการยุบ อบจ.จะทำให้ราชการส่วนภูมิภาคมีขนาดใหญ่ งบประมาณจะไปลงที่ราชการภูมิภาคจำนวนมาก ในอนาคตอีก 30 ปี เมืองต่างๆทั่วโลกจะกลายเป็นเมือง และเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง เช่น 
    - Citizen demand ความต้องการของประชาชน
    - Mega trend แนวโน้มที่เป็นสากล การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

        โอกาสของการพัฒนาอย่างยั่งยืน การทำเมืองให้เกิดสมดุลระหว่างเรื่องปัจเจกกับคุณภาพสังคม *การสร้างโอกาสให้คน และต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงของปัจเจกได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ขณะที่คุณภาพสังคมคือการสร้างกลไกที่รองรับผู้ที่ลำบากยากจนในเมืองได้ การลดความเหลื่อมล้ำต้องทำให้คนในเมืองเกิดความแตกต่างกันให้น้อยที่สุด การทำให้คนอยู่อย่างพอใจและตอบสนองต่อปัญหาในระยะยาว เช่น หลายเรื่องท้องถิ่นต้องยอมขาดทุนเพื่อให้เกิดกำไรในภาพรวม  คุณภาพสังคม (Quality of life) ได้แก่ ความมั่นคงทางสังคม การหลอมรวมทุกคนในสังคม/การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม และการเสริมพลังทางสังคม โดยกล่าวในช่วงท้ายว่า การเลือกตั้งเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการสรรหา “นักการเมืองท้องถิ่น” แต่เมื่อท่านได้รับเลือกแล้ว ท่านไม่ใช่นักการเมืองสำหรับคนแค่กลุ่มเดียว แต่ท่านคือ “นักบริหารเมือง” ของประชาชนทุกคน

       จากนั้น เป็นการบรรยายและแลกเปลี่ยน หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ประเทศกับทิศทางการพัฒนาในสถานการณ์วิถีใหม่ของโลก” โดย นายดนุชา พิชยนันท์ (เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยมีประเด็นว่า  แนวโน้มระดับโลก (Megatrend) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร กระทบต่อภาระงบประมาณที่ต้องดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางสังคม และการขยายตัวของความเป็นเมือง ซึ่งผลกระทบและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวถึง 4.3% อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 6.5% และการค้าการเดินทางระหว่างประเทศหดตัวอย่างรุนแรง

      เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ 

       กลไกการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมี องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นตัวประสานกลไกระหว่างพื้นที่และแผนการพัฒนาระดับพื้นที่ ซึ่งในอนาคตอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเทรนด์ใหม่ที่กำลังมา นั่นคือ gastronomy โดยใช้อาหารพื้นถิ่นเป็นตัวเสริมและสร้างเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว และเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น

      ส่วนในภาคบ่าย เป็นการบรรยาย หัวข้อ “ทางเลือกสำหรับการอยู่รอดขององค์กรในยุค Disruptive Technology” โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดจำนวนของผู้ติดเชื้อ ทั้งเรื่องการห้ามนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไปจนถึงการปิดประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งทำให้ผู้คนทั่วโลก ‘หยุด’ การเคลื่อนไหวเดินทาง การงดเว้นการเดินทางนอกจากจะทำให้ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลแล้ว หากมองในแง่มหภาค ประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว จะเป็นประเทศที่ได้รับผลเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดในยามที่ผู้คนอยู่บ้านและหยุดการเดินทางในสถานการณ์เช่นนี้  ปัจจุบันนี้ มีแพลตฟอร์ม clubhouse มาใช้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยี AI มาใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อน นำมาใช้ในการเรียนการสอน และเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึก 

     โลกปัจจุบันเป็นโลกที่ทุกคนปรับตัวเร็วเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงผู้นำที่ดี จะต้องมีวิสัยทัศน์ดี กล้าสื่อสารในสิ่งคิด การบรรยายและแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกับโอกาสการพัฒนารายได้: ทิศทางประเทศ ทิศทางท้องถิ่นไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) TDRI ความว่า 

**โลกก่อนโควิดและช่วงการระบาดของโควิด

      โลกใหม่หลังโควิดที่จะไม่เหมือนเดิม มีประเทศกว่า 100 ประเทศที่ขอความช่วยเหลือจาก IMF และมี 6 ประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โดยจะแบ่งช่วงออกเป็น 2 ช่วงคือ ยุคก่อนโควิด และยุคหลังที่มีวัคซีนแล้ว ซึ่งตอนนี้ไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อวัคซีนมาแล้วเราก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก สำหรับประเทศไทยนั้นประมาณการเวลาฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ประมาณปี 2565 เป็นต้นไป โดยประเทศไทยมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงมากที่สมุทรสาคร และคาดว่ายังไม่หมดไปอย่างง่ายๆ และเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเองก็ยังไม่มีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงได้มากนัก

     นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่า อาจจะมีการกลายพันธุ์ของไวรัส นั่นหมายถึงว่า แม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์หนึ่งแต่ก็อาจติดได้อีกในอีกสายพันธุ์หนึ่งหากได้รับเชื้อนั้น สถานการณ์ทุกวันนี้ประเทศในยุโรปได้มีการกลายพันธุ์ของไวรัสในหลายสายพันธุ์แล้ว แต่ประเด็นสำคัญนั่นคือ วัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100% ดังนั้นเราจึงยังไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วนัก โควิด-19 ได้เผยให้เห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นเพราะได้รับผลกระทบจากการว่างงาน คนที่ทำงานนอกระบบและใช้แรงงานก็ยังคงต้องออกไปทำงานทำให้เสี่ยงกับโรคระบาด

     **โลกใหม่หลังโควิด

       โจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลังโควิดจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ประชาชนเดิมที่มีฐานะยากจนอยู่แล้วก็จะจนมากขึ้น เราพบแล้วว่าการไม่มีแผนสองนั้นคือ ความเสี่ยง โลกหลังโควิดจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะมาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ทุกภาคส่วนของโลกต้องเปลี่ยนตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น การใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว ธุรกิจ e-commerce  สิ่งเหล่านี้ เป็นโจทย์ที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะต้องเจอในอนาคต เพราะสิ่งที่เราเตรียมพร้อมไว้ในอนาคตจะมาถึงเร็วขึ้น และสิ่งที่เราคาดการณ์เตรียมการณ์ไว้ว่าจะมาถึงเร็วก็จะเกิดขึ้นช้าลง เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะมาเร็วขึ้น ขณะที่พลังงานทดแทนและเมกะโปรเจคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกลับมาช้าลง ต้องชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด รัฐบาลจะชะลอการเก็บภาษีไปส่งผลกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่นที่อาจจะลดลง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแรงกดดันต่อผู้นำทุกท่าน โดยสรุปในช่วงท้ายว่า ท้องถิ่นคือหัวใจของโลกยุคหลังโควิด ประเทศที่การเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งจะทำให้การเมืองระดับชาติเข้มแข็ง

        สถาบันพระปกเกล้า ตระหนักถึงความสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ควรทราบถึงศักยภาพขององค์กร ทรัพยากรทางการบริหาร และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ และประเมินแนวทางการบริหาร การจัดบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้รับบริการและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายประชาคมท้องถิ่นเพื่อการพัฒนางานท้องถิ่นของประเทศต่อไป


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า