ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สัมมนาวันสตรีสากล เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ


         เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 สถาบันพระปกเกล้า โดย สำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ซอนต้าสากล ภูมิภาค 17 เขต 6 (ประเทศไทย) และสโมสรซอนต้ากรุงเทพ 6 จัดสัมมนาออนไลน์ “วันสตรีสากล: เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” (International Women’s Day# Choose to Challenge for Gender Equality)  โดยพิธีเปิดการสัมมนา ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) กล่าวถึง ประเด็นเรื่อง การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นวาระสำคัญของโลกที่มีการรณรงค์อย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานหญิง รวมถึงการรับรองปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี

       ความสำเร็จในอาชีพการงานของผู้หญิงยังคงมีอุปสรรคสำคัญที่คอยขวางกั้นอยู่ และเป็นสถานการณ์ที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป  การสร้างความตระหนักในการต่อต้านอคติทางเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายสามารถก้าวข้ามจากกับดักความคิดเดิม ๆ และนำไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะผลักดันให้ทุกคนกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งมุมมองและการปฏิบัติเพื่อให้เสริมสร้างให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคม 

       การสัมมนาในครั้งนี้จึงจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในภาคีเครือข่ายด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ  จากนั้น เป็นเวทีสัมมนา เรื่อง “เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยวิทยากร นางเรืองรวี พิชัยกุล (ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา) สถิติเกี่ยวกับผู้หญิงหลายเรื่องชี้ให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในปัจจุบัน เช่น ผู้หญิงกลายเป็นผู้นำครอบครัวมากขึ้น ซึ่งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวและรับผิดชอบบทบาทเดิมควบคู่กันไป ผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและการท่องเที่ยว จึงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จำนวนมาก

อาจารย์สุนี ไชยรส (รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต)  

       ในสังคมประชาธิปไตย ความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่กัน ซึ่งสิทธิมนุษยชนนั้นยังรวมไปถึงสิทธิชุมชน สิทธิผู้หญิง สิทธิแรงงาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงหลายประเด็นได้ถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ซึ่งแต่เดิมเคยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาก่อน เช่น กระบวนการพิจารณาคดีสำหรับกลุ่มเปราะบางและผู้หญิงในคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ การดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่คำนึงถึงสัดส่วนหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน เป็นต้น

ดร.สร้อยเพชร เรศานนท์ (สโมสรซอนต้า ประเทศไทย)

      ในแวดวงนักธุรกิจ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายล้วนดำเนินธุรกิจภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน จึงไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องไม่เท่าเทียมทางเพศในแวดวงนักธุรกิจ แต่ประเด็นที่สโมสรซอนต้ารณรงค์มาโดยตลอดคือ การยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังปรากฏอยู่โดยทั่วไป ในปัจจุบันประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560-2564 เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาสตรีในภาพรวมของประเทศ แต่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ที่ดีและครอบคลุมมิติที่หลากหลาย

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ (เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย)

     สื่อมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมสังคมไทยให้เกิดค่านิยมเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งผลิตซ้ำในสื่อต่าง ๆ เช่น ละครโทรทัศน์ โฆษณา จนกลายเป็นภาพจำเกี่ยวบทบาทของเพศหญิงและเพศชาย

     ส่วนในภาคบ่าย เป็นการบรรยายในประเด็น “Gender Equality and Empowering Women and girls in Canada” โดย H.E. Dr. Sarah Taylor, Canadian Ambassador to Thailand (เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย) ดำเนินรายการโดย Mr.Wendell Katerenchuk (พนักงานวิเทศสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า) 

      ดร.ซาร่า เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “ความเสมอภาคทางเพศ: ศึกษากรณีผู้หญิงและเด็กสาวในแคนาดา” เพื่อเป็นการฉลองวันสตรีสากล  โดยความตอนหนึ่งว่า การสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติของแคนาดา  ในวันนี้ขอนำวาระดังกล่าวมาพูดถึงเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับประเทศไทย  ความเสมอภาคทางเพศยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ  ที่จะต้องขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ภายในปี 2573 ความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องที่เริ่มเป็นที่กล่าวถึงของรัฐบาลประเทศต่างๆ และได้มีการดำเนินการมาเกือบ 3 ทศวรรษ และเป็นเรื่องที่ยังกระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในประเทศแคนาดาเอง ก็มีอุปสรรคในช่วงแรกๆ เช่นกัน ซึ่งมีองค์ประกอบหลายประการในการสร้างเสริมนโยบายให้เกิดความเสมอภาคดังกล่าว เช่น ความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political Commitment) กระบวนการนิติบัญญัติ (Legislation) ทรัพยากร (Resource) การรายงานและการรวบรวมข้อมูล (Reporting and data collection) เป็นต้น  


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า